วิธีดูอัตราแลกเปลี่ยน
วิธีการดูตาราง และความหมาย
การสังเกตง่ายๆ เรทจะมีอยู่ 2 ช่อง Buying และ Selling หากไม่สนใจหลักการอะไรเลย ให้ดูว่าช่องไหนเลขเยอะกว่า คือเรทที่ต้องใช้เวลาเอาเงินไทยไปแลก ส่วนเรทที่เลขน้อยกว่า จะใช้ตอนที่เราเอาเงินต่างประเทศไปแลก
ยกตัวอย่างการดูเรท Selling หรือ Buying
– มีเงินบาท ถือไปแลก เงินเยน (ญี่ปุ่น) ให้ดูที่ช่อง Selling เรท 0.3235
– มีเงินเยน (ญี่ปุ่น) ถือไปแลก เงินบาท ให้ดูที่ช่อง Buying เรท 0.3210
วิธีการคำนวณเงิน
– หากเป็นเงินไทย จะคิดเรทเงินต่างประเทศ ให้เอาเรทไป “หาร” เสมอ
– หากเป็นเงินต่างประเทศ จะคิดเป็นเงินไทย ให้เอาเรทไป “คูณ” เสมอ
ตัวอย่าง – กรณีไปแลกเงินต่างประเทศ
– มีเงินบาท 5,000 บาท ถือไปแลก เงินเยน (ญี่ปุ่น) เอา 5,000 ÷ 0.3235 (เรท Selling) จะได้เงินเยนไปเที่ยวทั้งหมด 15,455.95 เยน (หากเป็นเศษธนาคาร/ร้านแลกเงิน มักจะเสนอให้ลดหรือเพิ่มเงินบาทให้ได้ค่าเงินถ้วนๆ ที่ง่ายต่อการจ่ายธนบัตรต่างประเทศ)
ตัวอย่าง – กรณีไปใช้จ่ายเงินที่ต่างประเทศ
– ไปร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่นจ่ายเงินไป 4,000 เยน คิดเป็นเงินไทย เอา 4,000 × 0.3235 (เรท Selling) ณ วันที่แลกมา เป็นเงินไทย 1,294 บาท จะทำให้รู้ว่าค่าอาหารมื้อนี้ หรือสินค้าที่ต้องการซื้อราคาเท่าไหร่
ตัวอย่าง – กรณีเงินเหลือกลับมาแลกคืน
– กลับจากญี่ปุ่นมีเงินเหลือมา 4,500 เยน ต้องการแลกคืน เอา 4,500 × 0.3210 (เรท Buying) จะเหลือเป็นเงินไทย 1,444.50 บาท
เวลาไปธนาคาร/ร้านแลกเงินต้องบอกยังไง
เวลาไปธนาคารหรือร้านแลกเงิน (บางร้านมีเคาน์เตอร์แยกสำหรับซื้อและขาย) ถ้าเราบอกว่ามา “แลกเงินค่ะ” พนักงานหน้าเคานเตอร์มักจะถามต่อว่า “มาซื้อหรือขาย” หลายคนคงจะงงๆ ไม่แน่ใจว่าจะต้องตอบว่ามาซื้อหรือขายดี เอาเป็นว่ากันง่ายๆ
– ถ้าเราจะเอาเงินบาทไปแลกเงินเยน (ญี่ปุ่น) ให้บอกพนักงานว่า “มาซื้อเงินเยน“
– ถ้ามีเงินเยน (ญี่ปุ่น) เหลือกลับจากเที่ยว จะไปแลกคืนเป็นเงินบาท ให้บอกพนักงานว่า “มาขายเงินเยน”
อ้างอิง : https://www.dplusguide.com/2016/exchange-rate/