วิธีคำนวณภาษี และรายการลดหย่อน ก่อนยื่นภาษี 2566

วิธีคำนวณภาษี และรายการลดหย่อน ก่อนยื่นภาษี 2566

อย่างที่ทราบกันดีว่าทุก ๆ ต้นปีเราจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยในปี 2566 ที่จะถึงนี้ จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง? แต่ละอย่างมีเงื่อนไขอย่างไร? ที่แม้แต่มือใหม่ด้านภาษีก็สามารถเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมตัวยื่นภาษี 2566 ได้อย่างถูกต้อง หากพร้อมแล้ว เรามาหาคำตอบได้ในบทความนี้กันเลย!

วิธีคำนวณภาษีเบื้องต้นด้วยตัวเอง

ต้องทำการคำนวณเพื่อหาเงินได้สุทธิออกมาก่อน ดังนี้

รายได้รวมทั้งปี – รายจ่ายทั้งปี – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

จากนั้นจึงทำการคำนวณว่าเราจะต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ดังนี้

เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

วิธีคำนวณรายการลดหย่อน 2566

เรามาดูกันว่า สำหรับผู้ที่กำลังจะยื่นภาษีนั้น สิทธิลดหย่อนภาษีของปี 2566 มีอะไรบ้าง และสามารถลดหย่อนได้มากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้คำนวณภาษีล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง โดยสิทธิในการลดหย่อนนั้นจะแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

ต่อไปเรามาดูกันว่าในแต่ละหมวดหมู่นั้นมีรายละเอียดการลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง

กลุ่มภาระส่วนตัวและครอบครัว

ลดหย่อนภาษีกลุ่มภาระส่วนตัวและครอบครัว

แบ่งออกได้ 6 สิทธิ ได้แก่

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

จำนวนลดหย่อน: 60,000 บาท
เงื่อนไข: ลดหย่อนทันทีสำหรับผู้มีเงินได้ที่ทำการยื่นภาษี

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส

จำนวนลดหย่อน: 60,000 บาท
เงื่อนไข: สำหรับสามี – ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีแต่ยื่นภาษีแบบแสดงรายการแบบรวมกัน

3. ค่าลดหย่อนบุตร

จำนวนลดหย่อน: 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)
เงื่อนไข:

  • หากเป็นบุตรตามกฎหมายสามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน (นับทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่)
  • หากเป็นบุตรบุญธรรมนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่)
  • หากมีทั้งบุตรตามกฎหมาย และบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรตามกฎหมายทั้งหมดมาหักภาษีก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก โดยรวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
  • หากมีบุตรตามกฎหมายเกินกว่า 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักภาษีไม่ได้

เงื่อนไข:
สำหรับการนำบุตรที่มีมาใช้ในการลดหย่อนภาษีนั้น ตัวบุตรจะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • บุตรจะต้องมีอายุระหว่างแรกเกิด จนถึง 20 ปี
  • หากบุตรมีอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
  • หากบุตรมีอายุเกินกว่า 25 ปี ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกินกว่า 30,000 บาทขึ้นไป หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น เงินที่ได้รับจากพ่อแม่ หรือเงินปันผล

4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร

จำนวนลดหย่อน: สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
เงื่อนไข: หักตามค่าใช้จ่ายจริง ทั้งค่าตรวจครรภ์ ค่าฝากครรภ์ ค่าทำคลอด ค่าบำบัดทางการแพทย์ การพักฟื้นภายในโรงพยาบาล แต่สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา – มารดา

จำนวนลดหย่อน: 30,000 บาทต่อบิดา – มารดา 1 คน โดยสามารถนับรวมบิดา – มารดาของคู่สมรสด้วยได้ (รวมสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท)

เงื่อนไข: บิดา – มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทันทีสำหรับผู้มีเงินได้ที่ทำการยื่นภาษี

6. ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ

จำนวนลดหย่อน: 60,000 บาทต่อคน
เงื่อนไข:

  • ผู้ทุพพลภาพต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ
  • ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วย “การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

กลุ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

ลดหย่อนภาษีกลุ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

มีด้วยกัน 1 สิทธิ ได้แก่

1. มาตรการ “ช้อปดีมีคืน”

จำนวนลดหย่อน: ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาทต่อคน

เงื่อนไข:

  • สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2566
  • ซื้อสินค้าหรือบริการ 30,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ แบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ แบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
  • ซื้อสินค้าหรือบริการได้อีก 10,000 บาท แต่จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ แบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ที่ออกผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
  • สินค้าหรือบริการที่ซื้อต้องเป็นดังนี้
    • สินค้าหรือบริการทุกประเภทที่ซื้อจากร้านค้าที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
    • บิลค่าน้ำมัน ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์
    • หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึง eBook (ยกเว้น นิตยสารและหนังสือพิมพ์) จากร้านที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบได้
    • สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ
    • สินค้าที่ไม่เข้าร่วม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าที่พักโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ช้อปดีมีคืนปี 2566 เงินติดล้อสรุปให้!

ลดหย่อนภาษีปีหน้าได้ง่าย ๆ เพียงซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ภายในวันที่ 1 มกราคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถเก็บหลักฐานไว้เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วง เดือนมกราคม – มีนาคม ของปี 2567

กลุ่มประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการลงทุน

ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการลงทุน

แบ่งออกได้ 9 สิทธิ ดังนี้

1. เงินประกันสังคม

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

2. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

3. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท

*** ข้อ 2 และ 3 รวมกันแล้วลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

จำนวนลดหย่อน: ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

จำนวนลดหย่อน: ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูเอกชน

จำนวนลดหย่อน: ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดไว้กับนายจ้าง

8. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

จำนวนลดหย่อน: ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

*** ข้อ 5 – 9 รวมกันแล้วลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

รู้หรือไม่ ? ประกันรถยนต์ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้

ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้ว่า การซื้อประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะ ประกันรถชั้น 1 ประกันชั้น 2+ หรือ ประกันชั้น 3+ หากรถยนต์นั้นเป็นชื่อของบริษัท สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จะสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้หากพิสูจน์ได้ว่า รถยนต์นั้นใช้ในการประกอบการงาน หรือกิจการจริง ๆ

กลุ่มสำหรับการบริจาค

ลดหย่อนภาษีกลุ่มสำหรับการบริจาค

แบ่งออกได้ 3 สิทธิ ได้แก่

1. เงินบริจาคทั่วไป

จำนวนลดหย่อน: ตามที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

เงื่อนไข: สำหรับการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ได้แก่ มูลนิธิต่าง ๆ สถานสงเคราะห์ สมาคม หรือวัดวาอาราม

2. เงินบริจาคให้แก่การศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม โรงพยาบาลรัฐ

จำนวนลดหย่อน: 2 เท่าของยอดที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

3. เงินบริจาคสนับสนุนพรรคการเมือง

จำนวนลดหย่อน: ตามที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

แบ่งออกได้ 1 สิทธิ ได้แก่

1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย

จำนวนลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไข:

  • สำหรับสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัยเท่านั้น
  • ต้องเป็นสินเชื่อที่กู้ยืมจากสถาบันทางการเงินภายในประเทศเท่านั้น
  • หากมีการกู้มากกว่า 1 แห่งสามารถนำมาใช้ลดหย่อนรวมกันได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีกู้ร่วม จะแบ่งดอกเบี้ยออกเท่า ๆ กันตามจำนวนผู้กู้ แต่รวมแล้วแต่ละคนจะลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท

Cr. https://www.tidlor.com/th/article/lifestyle/tax-cal-list-deduct


สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี


 


ส่วนหนึ่งของผลงานดูแลลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้แอคโปรแท็ค (AccProTax) ดูแล จนลูกค้าประทับใจในบริการ และยกนิ้วให้

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart