วิธีคำนวณภาษี และรายการลดหย่อน ก่อนยื่นภาษี 2566

วิธีคำนวณภาษี และรายการลดหย่อน ก่อนยื่นภาษี 2566

ลดหย่อนภาษี 2566 ก่อนยื่นลดหย่อนต้องศึกษาทำความเข้าใจ ยื่นภาษี 2566 หรือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ หากลืมรายการลดหย่อนภาษี ไปแม้แต่รายการเดียว นั่นก็หมายถึงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ทุกคนจึงต้องเช็กรายการลดหย่อนภาษีพื้นฐานให้พร้อม เพื่อลดหย่อนภาษี 2566 ที่จะต้องยื่นภาษีในปี 2567 จะได้ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีไหนตกหล่น เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษี 2566

คนไทยทุกคนที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่จะเสียภาษีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของตนเอง ซึ่งคิดจากการนำเงินได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด โดยเงินได้ทั่วไป (เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่รายการลดหย่อนภาษีจะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย

รายการพื้นฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี 2566

ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

1. ลดหย่อนภาษีส่วนตัว

ลดหย่อนได้ 60,000 บาททันที โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

2. ลดหย่อนภาษีคู่สมรส

ลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

3. ลดหย่อนภาษีบุตร

ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท เฉพาะบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปีและกำลังเรียนอยู่ แต่ในกรณีลูกคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

4. ลดหย่อนภาษีบิดามารดา

ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท โดยใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้องไม่ได้

5. ลดหย่อนภาษีผู้พิการ

ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้ลดหย่อนภาษีต้องเป็นผู้ดูแลที่ระบุอยู่ในบัตรคนพิการเท่านั้น

6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท โดยครอบคลุมทั้งค่าฝากครรภ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล

ลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์

สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

2. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง

เบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถรวมประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้

4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ลดหย่อนภาษีได้ด้วยประกันชีวิต

ลดหย่อนภาษีได้ด้วยประกันชีวิต

การลงทุนกองทุน RMF ช่วยลดหย่อนภาษี 2566

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน

1. กองทุนประกันสังคม

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท (จากเดิมไม่เกิน 9,000 บาท)

2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

3. กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

4. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

5. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค

1. เงินบริจาคทั่วไป

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน

2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ

ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน

3. เงินบริจาคพรรคการเมือง

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

ลดหย่อนภาษีด้วยมาตรการรัฐ

1. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย

สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหรือคอนโด สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท
การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ไม่ต้องใช้เอกสาร สำหรับสัญญากู้ยืมเงินที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
– บุคคลธรรมดา (ผู้กู้) ทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย และประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อน
– แจ้งผู้ให้กู้ยืม แจ้งธนาคาร หรือผู้ให้กู้ยืม* ให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
– ประโยชน์ของผู้กู้ ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ไม่ต้องเก็บหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร หรือผู้ให้กู้ยืม
*ผู้ให้กู้ยืม ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเนทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจ เครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ธอส. เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ผ่านแอป-เว็บไซต์

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าธนาคารที่ต้องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องการใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกับ ธอส. ได้แบบง่าย ๆ และทำได้ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาของธนาคาร ผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
1. แอปพลิเคชัน: GHB ALL โดยเลือกแถบเมนูที่มุมซ้ายด้านล่าง กดที่ “บริการอื่น ๆ” เลือก “หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ / แจ้งสิทธิยกเว้นภาษี” แล้วเลือก “ขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้” จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลหมายเลขบัญชีเงินกู้ ยอดชำระดอกเบี้ยประจำปี และให้กดที่ข้อความ “ขอรับเอกสาร” เพื่อกรอกอีเมลที่ลูกค้าต้องการรับหนังสือ หากกรอกครบถ้วนแล้วให้กด “ส่งอีเมล” ซึ่งระบบจะส่งหนังสือรับรองดอกเบี้ยไปยังอีเมลที่ลูกค้าระบุทันที
2. เว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยสามารถคลิกที่แถบเมนูหลัก เลือก “บริการอิเล็กทรอนิกส์” และไปที่ “เว็บแอปพลิเคชัน” จากนั้นให้เลือก “ระบบพิมพ์หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมประจำปี” เพื่อลงทะเบียนการใช้งานระบบ และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน อาทิ อีเมล เลขประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชีเงินกู้ และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
โดยหลังจากยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จก็จะสามารถดาวน์โหลดหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ทางเว็บไซต์ได้ทันที

ลดหย่อนภาษี 2566 ฉบับคนมีคู่ เปรียบเทียบแยกยื่น-รวมยื่นแบบไหนดีกว่า

คู่สมรสมีทางเลือกในการวางแผนยื่นภาษี 2566 และลดหย่อนภาษี 2566 ที่หลากหลาย ดังนี้
1. แยกยื่นภาษี เหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ไม่ต่างกันมากนัก และมีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน
2. รวมยื่นภาษี วิธีนี้เป็นการรวมเงินได้ทั้งหมดของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วนำไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ยื่นแบบ เหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ต่างกันมาก และผู้ที่มีรายได้น้อยใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เต็มสิทธิ จึงรวมรายได้กันและให้ฝ่ายมีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นแบบ ทำให้สามารถรวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ ของฝ่ายที่มีรายได้น้อย ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มสิทธิ ไปให้อีกฝ่ายที่มีภาระภาษีสูงกว่าได้ประโยชน์ โดยทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามสามี คือ การที่ภรรยานำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบ
2.2 รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามภรรยา คือ การที่สามีนำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบ
3. แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปยื่นรวมในนามอีกฝ่าย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
3.1 ภรรยาแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปรวมกับเงินได้ของสามี แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามสามี
3.2 สามีแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปรวมกับเงินได้ของภรรยา แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามภรรยา

เงินได้อื่น ๆ ในที่นี้หมายถึงดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าบ้าน เงินรับจ้างทำของ เป็นต้น วิธีนี้เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินเดือนสูง และมีรายได้จากทางอื่นด้วย แต่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนของเงินเดือนเต็มสิทธิทางกฎหมายแล้ว ทำให้รายได้อื่นที่เพิ่มมา

นอกจากจะหักค่าใช้จ่ายเพิ่มไม่ได้ ยังเป็นรายได้ส่วนเพิ่มที่ทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น และต้องเสียภาษีมากขึ้น ก็สามารถยื่นแบบเฉพาะเงินเดือน และนำเงินได้อื่น ๆ ไปรวมกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า และยังใช้สิทธิค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายยังไม่เต็มสิทธิ ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า

1. ส่วนตัวและคู่สมรส
คนละ 60,000 บาท
รวมกันไม่เกิน 120,000 บาท
2. บุตร
คนละ 30,000 บาท สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ได้คนละ 60,000 บาท
รวมกันได้ 60,000 บาท ต่อบุตร 1 คน สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ได้คนละ 120,000 บาทต่อบุตร 1 คน
3. บิดามารดา
ท่านละ 30,000 บาท บิดามารดาคู่สมรสท่านละ 30,000 บาท
ท่านละ 30,000 บาท บิดามารดาคู่สมรสท่านละ 30,000 บาท
4. เบื้ยประกันชีวิต
คนละ 100,000 บาท หากคู่สมรสไม่มีรายได้ ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้อีก 10,000 บาท
รวมไม่เกิน 200,000 บาท (คนละ 100,000 บาท)
5. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน

– หากสามีภรรยากู้ร่วมกันและแยกยื่นแบบ จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงกรณีกู้ร่วมกันแต่มีเงินได้ฝ่ายเดียว สามารถใช้สิทธิของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ได้ด้วย (รวมเป็นไม่เกิน 100,000 บาท)

– ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ต่างฝ่ายต่างลดหย่อนได้ตามจริงสำหรับส่วนของตนเอง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

– หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

– หากสามีภรรยากู้ร่วมกันและรวมยื่นแบบ จะลดหย่อนได้คนละครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

– ต่างฝ่ายต่างกู้ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างสมรส ใช้สิทธิของตนเองแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และใช้สิทธิของคู่สมรสได้อีกไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท

– หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้คนเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

ขอบคุณข้อมูลเปรียบเทียบการแยกยื่น-รวมยื่น จากธนาคารไทยพาณิชย์

ยื่นภาษีเมื่อไหร่

ยื่นภาษีแบบกระดาษได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม เพื่อเสียภาษี ลดหย่อนภาษี หรือขอคืนภาษีที่เสียไปแล้ว และสามารถยื่นภาษีทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน (หากตรงกับวันหยุดจะมีการเลื่อนวันสิ้นสุดออกไป ซึ่งจะต้องเช็กข้อมูลอีกครั้งในแต่ละรอบการยื่นภาษี)

เช็กลดหย่อนภาษี 2566 ผ่าน My Tax Account

กรมสรรพากรพัฒนาระบบ My Tax Account ใหม่ ช่วยให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงข้อมูล และบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ถึง 9 รายการ ประกอบด้วย
1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
2. เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
3. เงินบริจาคผ่านระบบ e-Donation
4. เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
5. เบี้ยประกันชีวิต
6. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
7. เบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา
8. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย (กรณีกู้คนเดียว)
9. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมทั้งข้อมูลเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับข้าราชการ และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ได้รับจากกรมบัญชีกลาง
ผู้เสียภาษีสามารถนำข้อมูลที่ปรากฏ ในระบบ My Tax Account ไปใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ รวมทั้งสามารถตรวจสอบสถานะการขอคืนภาษี และการนำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาคืนภาษีได้อีกด้วย

วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อน

2. เลือก My Tax Account (บริการตรวจสอบข้อมูลลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี)
3. คลิกเข้าระบบ กรอกหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกับระบบ e-Filing
4. เลือกรายการลดหย่อน
สำหรับข้อมูลที่แสดงบนระบบ My Tax Account เป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากหน่วยงานภายนอกหากพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่ส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรได้
ที่สำคัญกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการยืนยันตัวตน เพื่อยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัย ป้องกันการสวมรอยในการเข้าทำรายการ เพราะนอกจากการเข้าใช้งานโดยกรอก Username และ Password ของระบบ e-Filing พร้อมทั้งระบุ Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย) แล้ว ยังมีการยืนยันตัวตนด้วยรหัส One Time Password (OTP) เพิ่มขึ้น เพื่อให้เจ้าของข้อมูลมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลมากยิ่งขึ้นด้วย
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
เอกสารยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอะไรบ้าง

หากยื่นภาษี 2566 ล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้น

กรณีที่บุคคลใดยื่นแบบภาษีภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบภาษีล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมชำระจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย บทลงโทษมีดังนี้
– กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
– กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
– กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
– กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
– เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยื่นภาษี 2566 ไม่ทันทำอย่างไร

หากยื่นแบบภาษีไม่ทันตามกำหนด ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น (ไม่สามารถยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ได้) โดยต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้
– แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
– หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่ จ่าย (50 ทวิ)
– เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี 2566 เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต, หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF, เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือเอกสารยืนยันสิทธิ์ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ
– เตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับ
เตรียมตัวลดหย่อนภาษี 2565 ได้หลายวิธี

การเตรียมตัวลดหย่อนภาษี 2567

1. ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

นอกจากจะคุ้มครองความเสี่ยงแล้ว เบี้ยประกันชีวิตยังช่วยลดหย่อนภาษีรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท

2. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

3. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

4. ซื้อบ้านและคอนโด

ดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน-คอนโดที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท
บ้าน 2 ล้าน ต้องผ่อนเดือนละกี่บาท
จะเห็นได้ว่าการยื่นภาษี 2566 จะมีรายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานมากมาย ซึ่งอาจมากพอที่จะทำให้หลาย ๆ คนไม่ต้องเสียภาษี แต่สำหรับผู้ที่มีเงินเดือนสูง รายการลดหย่อนภาษีพื้นฐานและมาตรการพิเศษต่าง ๆ ทุกรายการ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด ดังนั้น เตรียมตัวไว้ให้ดี ห้ามลืมลดหย่อนภาษี 2566 รายการไหนเป็นอันขาด
Cr. https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/รายการลดหย่อนภาษี-ขั้นพื้นฐานที่ต้องรู้-37727

สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี


 


ส่วนหนึ่งของผลงานดูแลลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้แอคโปรแท็ค (AccProTax) ดูแล จนลูกค้าประทับใจในบริการ และยกนิ้วให้


Start typing and press Enter to search

Shopping Cart