วางแผนภาษีอย่างไรให้มีเงินเหลือเก็บ เคล็ดลับสำหรับมนุษย์เงินเดือน
การเสียภาษีจัดว่าเป็นหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำที่ต้องนำส่งภาษีเข้ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนขอหักลดหย่อนภาษีเพื่อนำส่วนต่างจากการลดหย่อนไปใช้จ่ายหรือลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
การเปิดโอกาสในการขอหักลดหย่อนภาษีนี้เองที่ทำให้การวางแผนภาษีมีความสำคัญในฐานะของเครื่องมือที่ช่วยให้คุณได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีเงินเหลือเก็บหรือไปลงทุนต่อยอดได้อีกด้วย บทความนี้จะพาคุณไปดูโครงสร้างและวิธีการคำนวณภาษีเพื่อให้คุณสามารถวางแผนภาษีให้เหมาะสมกับความต้องการทางการเงินของคุณ
ภาษีเงินได้คิดกันอย่างไร?
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งแบบ ภงด. 90 และ ภงด.91 หากรายได้ขั้นต่ำต่อปีถึงเกณฑ์ คุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ คือ
ผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ส่วนผู้ที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ภายในวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี
ส่วนวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบื้องต้นคือ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี ในที่นี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2564 สามารถคิดได้สองวิธี คือ
-
การคิดแบบขั้นบันได
สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำเพียงช่องทางเดียว เช่น เงินเดือนประจำ มีอัตราภาษี ดังนี้
-
การคิดแบบเหมาจ่าย
ในกรณีที่มีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากรายได้ประจำมากกว่า 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวณแบบเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินหลังหักรายได้ประจำออกจากเงินได้ประเภทอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหากคำนวณแล้วได้ยอดภาษีต่ำกว่า 5,000 บาท ให้ยกเว้นภาษีก้อนนี้ไป
หากคุณมีรายได้ทั้งในรูปแบบของรายได้ประจำ และรายได้อื่นๆ เกิน 120,000 บาทต่อปี ให้คำนวณทั้งสองรูปแบบ และจ่ายภาษีตามรูปแบบที่คำนวณแล้วได้ยอดภาษีเงินได้สูงกว่าเท่านั้น
โดยการคำนวณอัตราภาษีทั้งสองรูปแบบนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเพื่อลดเงินได้พึงประเมินลงได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สามารถหักลบได้ในแต่ละปีภาษีนั้นสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนนั้นจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคล
อะไรที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง?
จะเห็นได้ว่า ค่าลดหย่อนภาษีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดเงินได้สุทธิลง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีเงินได้ในช่วงที่คาบเกี่ยวระหว่างขั้นภาษีพอดี เพราะค่าลดหย่อนจะทำให้คุณไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ
การวางแผนภาษีจึงมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะหากคุณต้องการนำเงินทื่ได้จากการลดหย่อนไปใช้ในการออม ด้วยเหตุที่ค่าลดหย่อนภาษีหลายรูปแบบมาจากเครื่องมือในการออมอย่างกองทุนรวมและประกันรูปแบบต่างๆ โดยที่เครื่องมือแต่ละประเภทจะให้ผลกับช่วงเงินได้ที่ต่างกัน หากรายได้ของคุณอยู่ในระดับปานกลาง การลงทุนกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็อาจเพียงพอต่อการลดหย่อนภาษีในแต่ละปี แต่หากคุณมีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อให้ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นกว่าเดิม
การลดหย่อนภาษีในแต่ละปียังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นอีกด้วย ดังนั้น ขอแนะนำว่าควรติดตามแนวทางการลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่างๆ จากภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคุ้มค่ามากที่สุด
วางแผนภาษีอย่างไรให้มีเงินเหลือเก็บ?
เพราะภาษีเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเป็นระบบและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้การวางแผนภาษีให้เหลือเงินออมได้ในทุกๆ ปีนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ซึ่งเราอยากให้คุณวางแผนภาษีล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่คุณจะได้มีแผนทางการเงินของคุณอย่างรอบด้าน ทั้งแผนการออม การลงทุน และภาษี นอกเหนือไปจากการที่คุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โดยการวางแผนภาษีนั้นสามารถทำได้ผ่านสามขั้นตอน คือ
-
ประมาณการรายได้
โดยปกติฐานภาษีจะคำนวณจากรายได้รวมทั้งปี การประมาณการรายได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคำนวณยอดภาษีที่ต้องจ่ายในปีนั้นๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รายได้คงที่อาจจะคำนวณจากเงินเดือนได้โดยตรง แต่สำหรับฟรีแลนซ์หรือคนที่มีรายได้ไม่คงที่ ให้ลองเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนในปีที่ผ่านมา และใช้ตัวเลขนี้ในการประมาณการรายได้ในปีต่อไป
-
คำนวณสิทธิลดหย่อนภาษีที่มีอยู่แล้ว
เมื่อทราบยอดรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในปีนี้แล้ว ให้นำมาหักด้วยค่าใช้จ่ายและสิทธิลดหย่อนทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งจะได้ยอดเงินได้พึงประเมินออกมา และให้ใช้ยอดเงินได้พึงประเมินนี้คำนวณภาษี หากคำนวณแล้วยอดภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ หรืออยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขอคืนภาษีได้ก็สามารถหยุดอยู่ที่ขั้นตอนนี้ได้ หากคุณไม่อยากคำนวณภาษีเอง หรือไม่แน่ใจว่าที่คำนวณออกมานั้นถูกต้องหรือไม่ เรามีเครื่องมือคำนวณภาษีให้คุณเลือกใช้ได้ด้วยเช่นกัน
-
หาสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม
หากคำนวณมาแล้วคุณยังต้องจ่ายภาษีในจำนวนเงินที่สูงอยู่ หรือคิดว่าสามารถลดหย่อนภาษีลงไปได้อีก ขั้นตอนต่อไป คือ การหาเครื่องมือช่วยลดหย่อนภาษีที่คุณยังไม่ได้ใช้ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะลดหย่อนภาษีในปีภาษีที่จะถึง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบต่างๆ
ข้อควรพิจารณาในที่นี้ คือ ควรชั่งน้ำหนักระหว่างยอดภาษีที่ลดหย่อนได้กับเงินลงทุนขั้นต่ำและผลตอบแทนที่จะได้รับ รวมไปถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการที่เงินก้อนดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าด้วย เพราะในบางกรณียอดภาษีที่คุณได้ลดหย่อนอาจน้อยกว่าผลตอบแทนที่คุณได้จากการนำเงินไปลงทุนอย่างจริงจัง (หลังหักภาษีแล้ว) ก็เป็นไปได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การวางแผนภาษีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะหากคุณรู้จักวิธีการคำนวณภาษี และรู้จักกับเครื่องมือช่วยลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะเครื่องมืออย่างกองทุน RMF และ SSF ที่ช่วยลดหย่อนภาษีต่อเนื่องได้หลายปีทีเดียว ส่วนท่านใดมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนภาษีหรือคำถามการเงินอื่นๆ สามารถติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ – ศุกร์ 9.00 น.- 17.00 น.หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ คลิก
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
Cr. https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/taxes/tax-knowledge/tax-plan-salaryman
สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี
ส่วนหนึ่งของผลงานดูแลลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้แอคโปรแท็ค (AccProTax) ดูแล จนลูกค้าประทับใจในบริการ และยกนิ้วให้