รายการประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

รายการประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

\

1. การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออกดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          1.1 การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งนี้ ต้องอยู่ในสภาพสดหรืออาจรักษาสภาพไว้เพื่อไม่ให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง หรือเพื่อการขายปลีกและขายส่ง ข้าวสาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว แต่ไม่ได้รับยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม (ทำเป็นอุตสาหกรรมหมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชผลทางการเกษตรที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง แต่ไม่รวมถึงนมสดที่ไม่ได้มีการปรุงแต่ง รส กลิ่น    และสี)

          1.2 การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งหรือเพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีก หรือขายส่ง แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม (ทำเป็นอุตสาหกรรมหมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชผลทางการเกษตรที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง แต่ไม่รวมถึงนมสดที่ไม่ได้มีการปรุงแต่ง รส กลิ่นและสี)

           1.3 การขายปุ๋ย

           1.4 การขายปลาป่น อาหารสัตว์

           1.5 การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์

           1.6 การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

2. การให้บริการดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

           2.1 การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

           2.2 การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

           2.3 การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุม การประกอบวิชาชีพอิสระนั้น

           2.4 การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

           2.5 การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (ลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี:  การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยต้องไม่ใช่การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการในทางธุรกิจ โดยผู้ประกอบการให้บริการวิจัยต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือเป็นมูลนิธิ หรือเป็นสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนหนึ่งของส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ)

           2.6 การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

           2.7 การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

           2.8 การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

           2.9 การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (นักแสดงสาธารณะหมายถึง นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่ หรือคณะ)

           2.10 การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร (ในส่วนการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยอากาศยาน เป็นกิจการที่ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้)

           2.11 การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล

           2.12 การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

           2.13 การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือ ผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

           2.14 การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

           2.15 การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

           2.16 การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

3. การนำเข้าสินค้าดังต่อไปนี้ 

           3.1 การนำเข้า สินค้าตาม 1.1 ถึง 1.6

           3.2 สินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )

           3.3 สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

           3.4 สินค้าซึ่งนำเข้าและอยู่ในอารักขาของศุลกากร แล้วได้ส่งกลับออกไปต่างประเทศ โดยได้คืนอากรขาเข้า ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

4. การส่งออกซึ่งสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16

 

เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : รายการประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

อ้างอิง : ประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (greenprokspforsme.com)

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart