ยื่นภาษีเงินปันผลกองทุนอสังหาฯ ทำได้อย่างไร

ยื่นภาษีเงินปันผลกองทุนอสังหาฯ ทำได้อย่างไร

เงินปันผลจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์มีประโยชน์ ตรวจสอบรายละเอียดให้ดีก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในช่วงที่การลงทุนมีความผันผวนสูง นักลงทุนหลายคนอยากได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ จึงหันมาลงทุนกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์กันมากขึ้น เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund), กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบ “เงินปันผล”

และช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงยื่นภาษีประจำปี มีหลายท่านที่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนเหล่านี้ถามกันมาเยอะว่า จะยื่นเงินได้จากเงินปันผลกองทุนทั้ง 3 ประเภท อย่างไร โดย K-Expert มีคำแนะนำดังนี้

 

1. ตรวจสอบประเภทเงินได้

ก่อนจะยื่นภาษีต้องดูว่าเงินปันผลเป็นเงินได้ประเภทใดจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยข้อมูลจากกรมสรรพากร แบ่งลักษณะของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็น 3 ประเภท ดังนี้

บุคคลธรรมดา กองทุนรวม

อสังหาฯ

กองทุนรวม

โครงสร้างพื้นฐาน

กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหา หุ้นสามัญ
เงินปันผลจัดเป็นเงินได้ตามมาตรา ม.40(8)

(ส่วนใหญ่)

ม.40(8) ม.40(4)(ข)

(ส่วนใหญ่)

ม.40(4)(ข)
อัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย

 

10%

 

ได้รับยกเว้นภาษี 10 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน

 

10%

 

10%

 

 

อย่างไรก็ตาม เงินปันผลจากกองทุนอสังหาฯ ทั้ง 3 ประเภท มีโอกาสเป็นเงินได้พึงประเมิน 2 แบบ คือ ตาม ม.40(4) (ข) เงินปันผลจากกองทุนรวมฯ หรือ ม.40(8) เงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมฯ ตาม พ.ร.บ.ฯ จึงแนะนำให้นักลงทุนตรวจสอบในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกครั้ง

2. รู้จักความหมายของคำว่า Final Tax

เงินปันผลจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกอง REIT เป็นเงินได้แบบ Final Tax ที่เลือกได้ว่า

1) จะนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด. หรือ

2) ไม่ต้องยื่นในแบบ ภ.ง.ด. ปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ดังนั้น เราควรเลือกนำมายื่นเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.เมื่อมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท หรือ อัตราภาษีสุดท้ายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5% สำหรับเงินปันผลกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปี จึงถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี

3. นำเงินได้ประเภทเดียวกันทุกรายการมายื่น

เงินปันผลจากกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ถ้าเลือกนำมายื่น ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากทุกกองทุนมายื่น โดยให้ยึดตามประเภทเงินได้ เช่น ถ้าเลือกนำเงินได้จากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตาม ม. 40(8) มา ต้องนำเงินปันผลของทุกกองทุนรวมตาม ม. 40(8) (ยกเว้นเงินปันผลจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี) มายื่นเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.

อย่างไรก็ตาม จุดตัดสินใจว่าจะนำเงินปันผลจากกองทุนรวม กับเงินปันผลจากหุ้นสามัญ มารวมยื่นจะแตกต่างกัน โดยเงินปันผลจากกองทุนรวม จะใช้การเปรียบเทียบระหว่าง อัตราภาษีสุดท้ายของเงินได้สุทธิ VS อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยกตัวอย่างเช่น นายแสงสว่าง มีเงินได้สุทธิ (ไม่รวมเงินปันผลจากกองทุนรวม) 200,000 บาท ส่วนเงินปันผลจากกองทุนรวม จำนวน 10,000 บาท (ก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย)

ดังนั้น เงินได้สุทธิมีอัตราภาษีสุดท้ายอยู่ที่ 5% ซึ่งเมื่อนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมเป็นเงินได้ จะทำให้เสียภาษีเพิ่ม 500 บาท (มาจาก 10,000*5%) ในขณะที่เงินปันผลจากกองทุนฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 10% เท่ากับ 1,000 บาท (10,000*10%) กรณีนี้จะได้รับเงินคืน จำนวน 500 บาท (เสียภาษีเพิ่ม 500 บาท แต่หัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 1,000 บาท)

ดังนั้น จุดตัดสินใจของการนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมเป็นเงินได้หรือไม่ คือ

– อัตราภาษีสุดท้ายของเงินได้สุทธิ < อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ควรเลือกนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้

– อัตราภาษีสุดท้ายของเงินได้สุทธิ ≥ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ควรปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบไป

สำหรับจุดตัดสินใจว่าจะนำเงินปันผลจากหุ้นสามัญ มารวมยื่นเป็นเงินได้หรือไม่ สามารถใช้การเปรียบเทียบระหว่าง อัตราภาษี (บุคคลธรรมดา) สุดท้ายของเงินได้สุทธิ VS อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จ่ายเงินปันผลจากกำไร โดยสามารถพิจารณาจากตารางด้านล่าง

 

ตารางนี้ แสดงเปอร์เซ็นต์ของเงินที่ได้รับคืน (+) และเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม (-) สำหรับการนำเงินปันผลทุกๆ 100 บาท มารวมเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.

ดังนั้น จุดตัดสินใจของการนำเงินปันผลจากหุ้นสามัญมารวมเป็นเงินได้หรือไม่ คือ

– อัตราภาษีสุดท้ายของเงินได้สุทธิ < อัตราภาษีนิติบุคคล ควรเลือกนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้

– อัตราภาษีสุดท้ายของเงินได้สุทธิ ≥ อัตราภาษีนิติบุคคล ควรปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบไป

กรณีที่อาจสับสนได้ คือ มีทั้งเงินปันผลหุ้นสามัญ และเงินปันผลกองทุนรวม ที่เป็นเงินได้ ม. 40(4)(ข) เหมือนกัน ต้องนำมายื่นเป็นเงินได้ทั้งหมดด้วย ดังนั้น สำหรับเงินได้ประเภท 40 (4)(ข) จะมาจากเงินปันผลจากหุ้นสามัญ และ/หรือ เงินปันผลกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้

ต้องระวังว่า เอกสารจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) อาจดูเหมือนกัน แต่จะถือว่าเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันเสมอนั้นอาจไม่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบประเภทเงินได้ตามข้อ 1 ก่อน และหากจะนำเงินได้ตาม ม.40(4)(ข) มารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษี ต้องลองคำนวณดูว่าเราได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่ได้ประโยชน์ก็แค่ไม่นำมารวมยื่นแบบ ภ.ง.ด. โดยปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบไปเลย

ในช่วงยื่นภาษีปีนี้ การนำเงินปันผลจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มารวมเป็นเงินได้หรือไม่นั้น เรามีสิทธิเลือกได้ โดยจะเลือกวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อเรา ตามสรุปตารางรายละเอียด ดังนี้

 

มีเงินปันผลกองทุนรวมตาม ม.40(4)(ข) เงินปันผลหุ้นสามัญตาม ม.40 (4)(ข)

 

มีเงินได้ทั้ง 2 ประเภท

 

เงินได้สุทธิ ≤ 300,000 บาท (อัตราภาษีสุดท้าย 5%) นำมารวมยื่นในแบบ ภ.ง.ด. นำมารวมยื่นในแบบ ภ.ง.ด. นำมารวมยื่นในแบบ ภ.ง.ด.
เงินได้สุทธิ > 300,000 บาท (อัตราภาษีสุดท้าย 10% ขึ้นไป) ปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายจบไป ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีนิติบุคคล

-อัตรานิติบุคคล > บุคคลธรรมดา ให้นำมารวม

-อัตรานิติบุคคล < บุคคลธรรมดา ปล่อยให้หัก แล้วจบ

ต้องลองคำนวณดูว่า เราได้ประโยชน์จากการนำเงินปันผลกองทุนรวมและเงินปันผลหุ้นมารวมหรือไม่

 

 

สรุปแล้ว ผู้ที่มีเงินได้น้อย ๆ (เงินได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท หรืออัตราภาษีสุดท้ายไม่เกิน 5%) ควรเลือกนำมารวมเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด. เพื่อจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 300,000 บาทขึ้นไป สามารถพิจารณาตามแต่ละกรณีดังตารางข้างต้น

เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®  K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ 
K-Expert@kasikornbank.com 

อ้างอิง : ยื่นภาษีเงินปันผลกองทุนอสังหาฯ ทำได้อย่างไร| DDproperty.com

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart