มาตรการภาษีส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล” ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่
1) ลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหลือไม่เกิน 60% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560
2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แก่บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560
3) บริษัทที่จัดตั้งใหม่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายจากการจัดตั้งบริษัท รวมทั้งรายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบบัญชี
4) ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดที่ถือเป็นการโอนส่วนตัวเข้าบริษัทนิติบุคคล และ 5) การอนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ได้
เปิดแนวคิดสรรพากรจูงใจบุคคลตั้งบริษัท
นายประสงค์พูนธเนศอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วัตถุประสงค์หลักที่กรมสรรพากรผลักดันเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 80%
ของจีดีพี ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจอยู่ราว 15% ดังนั้นหากสามารถตัดส่วนนี้ออกไปได้ ก็จะทำให้ภาพรวมเรื่องหนี้ครัวเรือนของประเทศดีขึ้น และปัจจุบันบริษัทนิติบุคคลจะเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 20% ซึ่งจะต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาระภาษีจากการทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา
“การเสียภาษีในรูปนิติบุคคลจะถูกกว่าอีกทั้งผู้ทำธุรกิจจะกู้เงินธนาคารแต่บุคคลธรรมดาอายุ 60 ปี ธนาคารก็ไม่ให้กู้แล้ว และเวลามีผู้สนใจร่วมลงทุนกับบริษัทก็จะง่ายกว่า การขยายธุรกิจก็จะง่ายกว่า คือข้อดีมีเยอะ ความเสี่ยงก็ลดลงด้วย เพราะถ้าเป็นธุรกิจส่วนตัวในรูปบุคคล จะแยกทรัพย์สินไม่ได้ชัดเจน” นายประสงค์กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า มาตรการนี้ดำเนินการต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรมีนโยบายผลักดันให้ “ร้านค้าทอง” และ “ร้านขายยา” เข้าสู่ระบบภาษีนิติบุคคล แต่การดำเนินการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาเข้าไปอยู่ในบริษัทที่ตั้งขึ้นจะมีภาระภาษี และรายจ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งค่าจัดตั้งบริษัท ค่าจ้างจัดทำบัญชี ค่าสอบบัญชีภาษีจากการโอนทรัพย์สิน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการเหล่านี้ ออกมาจูงใจ โดยกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560
“มติ ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการแปลงจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล อย่างกิจการที่มีใบอนุญาตอย่างร้านขายยา พอเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลใบอนุญาตก็จะขาด ดังนั้นก็ให้มีการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้ หรือเวลาโอนที่ดินจากบุคคลไปนิติบุคคลก็จะมีกำไรจากการโอน ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ เสียค่าธรรมเนียมการโอน ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะลดให้” แหล่งข่าวกล่าว
บีบจดนิติบุคคล-รีดภาษีแบบเหมาแพงขึ้น
นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งมักไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ
“อย่างร้านทองบางร้านแจ้งทั้งปีมีรายได้อยู่แค่ 1.6 ล้านบาท ลองคิดดูจะอยู่ได้อย่างไร หรืออย่างกฎหมายบอกว่า กรณีร้านทองมีกำไรสามารถหักต้นทุนได้ 75% คือขายทอง 100 บาท ได้กำไร 25 บาท แต่ปัจจุบันร้านทองบอกว่า ขายทอง 1 บาท (บาทละกว่า 20,000 บาท) กำไรแค่ 50-100 บาท ทั้ง ๆ ที่ควรจะได้ถึง 5,000 บาท ดังนั้นมาว่ากันด้วยความจริงจะดีกว่า”
สอดคล้องกับนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า การทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาสามารถเลือก “หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา” หรือ “เลือกหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม” แต่ผู้มีเงินได้ส่วนใหญ่มักเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ไม่ได้สะท้อนผลประกอบการจริง ขณะที่การประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะต้องมีการทำบัญชี และมีผู้สอบบัญชี ทำให้ธุรกิจมีความโปร่งใส เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง
“การทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะทำให้เกิดการแสดงผลประกอบการที่แท้จริงทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายและเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว” นายณัฐพรกล่าว
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า ในร่างกฎหมายที่เป็นการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาลดลงมาเหลือไม่เกิน 60% สำหรับรายได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 จากเดิมที่เงินได้จากการรับเหมาให้หักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 70% และเงินได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือกิจการอื่น เช่น กิจการโรงแรม หรือภัตตาคาร การขนส่ง และการทำเหมืองแร่ ที่เดิมให้หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 40-85%
“มาตรการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหลือไม่เกิน 60% จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เวลาเสียภาษี ซึ่งจะเสียในรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะหักค่าใช้จ่ายได้น้อยลง และทำให้เสียภาษีแพงขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
เข้าข่าย 2.5 แสนราย-ดันรายได้ VAT เพิ่ม
นายประสงค์กล่าวว่า ตามมาตรการนี้มีผู้ประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 250,000 ราย ซึ่งหากทั้งหมดนี้ดำเนินการจัดตั้งธุรกิจในรูปนิติบุคคล จะทำให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เกิดจากการทำบัญชีอย่างถูกต้อง
ในจำนวนธุรกิจราว 250,000 ราย ที่ปัจจุบันยังอยู่ในรูปบุคคลธรรมดานั้น ครอบคลุมกิจการแทบทุกประเภท อาทิ ร้านทอง ร้านขายยา ร้านแว่นตา ผู้รับเหมา ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม หรือแม้แต่ธุรกิจขายตรง
สรรพากรเตรียมประกาศหลักเกณฑ์
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่าร่างกฎหมายที่ครม.เห็นชอบไป น่าจะประกาศใช้ได้เร็ว ๆ นี้ เพราะเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กับร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งไม่ต้องเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียงแต่รอให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ จากนั้นจะมีการออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ธุรกิจที่จะได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ จะต้องมีลักษณะอย่างไร และทรัพย์สินที่จะโอน แล้วได้รับสิทธิ์ตามมาตรการนี้จะต้องมีลักษณะอย่างไร
“คนที่จะได้สิทธิ์ในการโอนทรัพย์สิน ที่ดิน ต้องเป็นคนที่ทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดามากก่อน ไม่ใช่ไม่เคยทำธุรกิจมาเลย ซึ่งเราจะออกเกณฑ์มาอีกที ส่วนทรัพย์สิน อาคารต่าง ๆ ที่จะโอนได้ ก็จะมีเกณฑ์ว่า ต้องมีการจดทะเบียนในชื่อของผู้ทำธุรกิจด้วย ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีค่าซ่อมบำรุง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ พวกเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เราเตรียมพร้อมไว้แล้ว จะออกมาทันทีหลังกฎหมายลงราชกิจจานุเบกษา” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นการต้อนให้ผู้ประกอบธุรกิจส่วนบุคคลไปอยู่ในฐานภาษี “เงินได้นิติบุคคล” ที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การจัดเก็บภาษีตาม “สภาพที่เป็นจริง” ของรัฐบาล และ “อุดช่องว่าง-ช่องโหว่” ต่าง ๆ เพื่อให้ได้เม็ดเงินภาษีกลับเข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง
Cr. http://www.thairegisters.com/มาตรการภาษีส่งเสริมให้/