บัญชีครัวเรือน
บัญชีครัวเรือน คือ การทำบัญชีเพื่อบันทึกข้อมูลรายรับรายจ่ายประจำวันหรือบันทึกข้อมูลอื่น ๆ ในชีวิตและในครอบครัว เช่น บัญชีทรัพย์สิน พันธุ์พืช พันธุ์ไม้ บัญชีความรู้ความคิดของเรา บัญชีผู้ทรงคุณ บัญชีเด็กและเยาชนของเรา หรือจะเป็นบัญชีภูมิปัญญาด้านต่างๆ ซึ่งเราสามารถจดบันทึกเรื่องราว สิ่งหรือเรื่องราวในชีวิตได้เช่นกัน
เรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนกันเถอะ
การทำบัญชีครัวเรือนถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ ในการใช้จ่ายรวมถึงรายรับในแต่ละวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสภาวะของการเงินของเราเองว่าเป็นอย่างไร จะได้เป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวัน
ข้อดีในการทำบัญชีครัวเรือน
การทำบัญชีครัวเรือนเป็นการจดบันทึกรายการการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งรายรับที่ได้มากับรายจ่าย ซึ่งทำให้ทราบสถานะในสภาวะทางการเงิน ง่ายต่อการตรวจสอบ ช่วยควบคุมรักษาการใช้จ่าย เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงในการใช้จ่ายได้ทัน ช่วยในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ได้
เริ่มต้นทำบัญชีครัวเรือนได้อย่างไร
เราสามารถเริ่มต้นทำบัญชีครัวเรือนอย่างง่าย ๆ เพียงแค่หาสมุดมาหนึ่งเล่ม และหาปากกาหรือดินสอสำหรับเขียนลงไปในสมุดบัญชีครัวเรือน ทำได้หลากหลายรูปแบบ ปกติแล้วควรจัดทำตารางเป็น 5 ช่องด้วยกัน ประกอบด้วย
- วันเดือนปีที่เกิดรายการนั้น ๆ
- รายการที่ปฏิบัติ
- รายรับ
- รายจ่าย
- ยอดคงเหลือซึ่งเป็นช่องสรุปยอดเงินคงเหลือในแต่ละวัน
ใช้เวลาต่อวันไม่นาน ก็จะได้ทราบข้อมูลทางการเงินไว้สำหรับนำไปวางแผนการเงินของครอบครัวได้อย่างสบาย ๆ
หลักการในการบันทึกบัญชีครัวเรือน
- มองภาพใหญ่ของปีหนึ่ง ๆ ก่อนว่ามีรายการอะไรบ้าง เช่น รายจ่ายที่ค่อนข้างคงที่ พวกค่าเรียนหนังสือลูก ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ
- ลำดับต่อไปมองภาพหนี้สินที่เป็นภาพใหญ่เป็นภาระที่ต้องชดใช้คืนในอนาคต เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคารต่าง ๆ การเช่าซื้อ การจำนำ การจำนอง การขายฝาก เป็นต้น
- เงินคงเหลือ ที่เป็นรายการจากการนำรายรับมาหักรายจ่ายแล้ว หากมีรายรับมากกว่ารายจ่ายจะเกิดเงินที่เรียกว่ากำไร แต่หากนำรายรับหักรายจ่ายแล้วพบว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ และทำให้เงินคงเหลือติดลบ เราจะเรียกว่า ภาวะขาดทุน
การวิเคราะห์บัญชีครัวเรือน
หลังจากได้บันทึกรายการทำบัญชีครัวเรือนแล้ว เมื่อผ่านพ้นเวลาไปสักระยะหนึ่ง ราว 1 เดือน ก็สามารถนำข้อมูลที่เราได้บันทึกมาวิเคราะห์ได้แล้วว่า รายรับรายจ่ายของเรามีความสมดุลหรือไม่ หากเงินคงเหลือเป็นขาดทุน ก็สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาว่าพอจะมีรายการไหนที่สามารถลดหรือตัดออกได้บ้าง ด้วยเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก หากทำได้อย่างนี้ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ทางหนึ่ง
เรียนรู้รายรับรายจ่าย
การทำบัญชีครัวเรือนส่งผลดีต่อตนเอง ซึ่งทางราชการก็พยายามสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนได้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ โดยมีหลักว่าให้บันทึกบัญชีลงไปว่ามีรายรับมาจากแหล่งใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าไร และมีรายจ่ายในเรื่องอะไรบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าไร ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน ทุก 6 เดือน และแต่ละปี การทำเช่นนี้จะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของการเงินของตนเองและครอบครัวว่ามีรายจ่ายเท่าไร มีเงินคงเหลือเท่าไร เงินขาดมือหรือรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นจำนวนเท่าไร สามารถเจาะลงไปทีละรายการเลยว่ามีรายการใดบ้างที่จ่ายมากเกินความจำเป็นหรือไม่ โดยการวางแผนการเงินใหม่ด้วยการลดการจ่ายที่ไม่จำเป็นและจ่ายเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น การทำเช่นนี้จะทำให้ฐานะการเงินในครัวเรือนค่อย ๆ ดีขึ้น
“การทำบัญชีครัวเรือนนั้นไม่ยากขอให้เราเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้และทำอย่างต่อเนื่อง คุณจะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ฐานะการเงินในครัวเรือนและวางแผนการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บไม่เป็นหนี้สินทำให้ครอบครัวมีความสุขตลอดไป”
อ้างอิง : https://www.pangpond.com/%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99