ดอกไม้กับรายจ่ายทางภาษีที่สรรพากรยอมรับ
ดอกไม้ กับ คนรัก
กรณีที่กรรมการบริษัท ใช้เงินบริษัทในการซื้อดอกไม้เพื่อมอบให้คนรักหรือให้กับพนักงานคนใดคนหนึ่งในบริษัท เพื่อแสดงความรักที่มีให้ แน่นอนค่าใช้จ่ายที่จ่ายได้จ่ายไปนั้น ถือเป็นการให้โดยเสน่หา เนื่องจากเป็นการให้อย่างเฉพาะเจาะจง จึงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้าม ในทางภาษี ไม่สามารถนำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
ดอกไม้ มอบให้ พนักงาน
กรณีที่บริษัท ซื้อดอกไม้เพื่อมอบให้พนักงาน เนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเลื่อนตำแหน่ง, เพื่อเยี่ยมพนักงาน หรือซื้อพวงหรีดแสดงความเสียใจในงานศพ ฯลฯ ถือว่าเป็นการจ่ายโดยเสน่หาของผู้มีอำนาจจ่ายเงินของบริษัท ยิ่งกว่าประโยชน์ทางการค้าของบริษัทโดยตรง จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทโดยเฉพาะเป็นรายจ่ายต้องห้าม อย่างไรก็ตามหากบริษัทมีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิการดังกล่าวชัดเจนที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป บริษัทมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (13)
ดอกไม้ กับ การประกอบกิจการ
ในการประกอบกิจการบางประเภทที่ดอกไม้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น โรงแรม, รีสอร์ท,ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ การซื้อดอกไม้เพื่อนำมาประดับตกแต่งสถานที่ดังกล่าวให้สวยงาม ดึงดูดผู้ใช้บริการหรือเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีภายในสถานที่ดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ ค่าใช้จ่ายจากการซื้อดอกไม้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
ดอกไม้ มอบให้ ลูกค้า
ส่วนค่าใช้จ่ายจากการซื้อดอกไม้เพื่อมอบให้ลูกค้าในโอกาสพิเศษต่างๆสามารถลงเป็นค่ารับรองได้ เพราะถือเป็นค่ารับรองอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป โดยเป็นค่ารับรองประเภทค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ทั้งนี้มูลค่าดอกไม้ที่ให้ต่อครั้งต้องไม่เกิน 2,000 บาท
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ดอกไม้กับรายจ่ายทางภาษีที่สรรพากรยอมรับ
อ้างอิง :
https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3305:flower-tax-expenditure-revenuedepartment&catid=29&Itemid=180&lang=th