ขอคืนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ?

ขอคืนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ?

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลเสียภาษี และ ขอคืนภาษี 2567 เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดี โดยการเสียภาษี ซึ่งการเสียภาษีนั้น ก็จะถูกควบคู่กับการยื่นลดหย่อน เพื่อขอคืนภาษี วันนี้เราจึงขอรวบรวม รายละเอียด ขอคืนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ? ไปดูกันได้เลย

เปิดรายละเอียด ขอคืนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ?

การยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีเงินเดือนประจำตั้งแต่ 120,000 บาท/ปี หรือมีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ 60,000 บาท/ปี โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุแต่อย่างใด ส่วนจะต้องเสียภาษีเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับฐานของเงินได้สุทธิในแต่ละปี ซึ่งทุกคนสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้สามารถประหยัดภาษีลงไปได้ หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยหากเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วเหลือไม่เกิน 150,000 บาท/ปี

ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีจึงควรทำตั้งแต่เริ่มปีนั้น เช่นยื่นภาษีปี 2567 ต้องเริ่มวางแผนลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เพราะจะช่วยให้สามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเต็มอัตราได้ และค่าลดหย่อนบางประเภทยังเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ด้วย มาเริ่มต้นทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราจะได้รับเพิ่มเติม อัปเดตเลยว่าค่าลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ไปดูกันได้เลย

การลดหย่อนภาษีครอบครัว และภาษีส่วนตัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน
  3. ค่าลดหย่อนบุตร
    1. บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปีที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
      • บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
      • บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
      • ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
      • บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    2. บุตรบุญธรรม ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย
      • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
      • หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
      • บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์
  4. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
    • สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
    • บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
    • ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
    • บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
  5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน

ลดหย่อนภาษีจากเงินออม เงินลงทุนน และซื้อประกัน

  1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
    หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น
  2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
    • ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
    • หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท
  3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
    หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    • หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น อย่างเช่น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีแบบบำนาญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    • ต้องมีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55-85 ปีขึ้นไป
  5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
    สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป
  6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
    สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ

    • ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี
    • ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
    • ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
    • เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้มีนายจ้างนั่นเอง
  8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
    เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
    เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563-2567
  10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
    หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562

ลดหย่อนด้วยการบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป
    เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ
    • สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
    • สถานพยาบาลของรัฐ
    • การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
  3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ลดหย่อนจาก มาตรการช้อปดีมีคืน

มาตรการช้อปดีมีคืน คือ การนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า บริการ และการเติมน้ำมัน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 มาลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2566 ที่จะต้องยื่นภาษีในปี 2567 ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ค่าซื้อสินค้า-บริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
  • ค่าซื้อสินค้า-บริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออก ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

กรณีที่ซื้อสินค้า 40,000 บาท ไม่ได้แปลว่าจะหักภาษีได้ 40,000 บาท แต่จะลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่นั้นอยู่ที่ฐานภาษีของตนเอง ต้องคำนวณจากเงินได้สุทธิที่เหลืออยู่ด้วย ซึ่งแต่ละขั้นจะสามารถลดหย่อนได้สูงสุดตามตารางดังต่อไปนี้

โครงการ “ช้อปดีมีคืน” มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุดเท่าไหร่ ?

  • เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ได้สิทธิคืนภาษี)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 2,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 8,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 12,000 บาท)
  • เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 14,000 บาท)

Cr. https://primo.co.th/บทความ/ขอคืนภาษี-2567-มีอะไรบ้าง/


สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี



ปรึกษาฟรี! โทร. 06437464720962895253

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart