การหักลดหย่อนเงินฝากแบบประกันชีวิต

การหักลดหย่อนเงินฝากแบบประกันชีวิต

เงินฝากแบบประกันชีวิตที่นำหักลดหย่อนได้ ต้องตรงตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 326 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (94) และ (95) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

“(94) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะในปีภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งการฝากเงินนั้นมีข้อตกลงว่าธนาคารผู้รับฝากเงินจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ตามข้อตกลงโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝากเงิน และมีกำหนดระยะเวลาการฝากเงินตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (61) วรรคหนึ่งแล้ว ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(95) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการฝากเงินกับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะและได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม (94)”

  1. อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (94) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้

สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 301) เรื่อง  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเงินฝากธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ และธนาคารผู้รับฝากจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝาก ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้

2.1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งการฝากเงินนั้นมีข้อตกลงว่า ผู้รับฝากจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝาก และมีกำหนดระยะเวลาการฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) จะต้องเป็นการฝากที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินฝากนั้น และการฝากเงินนั้นจะต้องฝากในนามของผู้มีเงินได้

(2) กรณีที่มีข้อกำหนดให้ผู้ฝากเงินได้รับเงินหรือผลประโยชน์คืนในระหว่างการฝากเงินต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(ก) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินฝากรายปี หรือ

(ข) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ฝากเงิน เช่น  ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินฝากสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ฝากเงินที่ผู้รับฝากกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ

(ค) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (ก) หรือ (ข) ผลตอมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีกาจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินฝากทั้งหมดของช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ไม่รวมเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อการฝากเงินครบกำหนดแล้ว หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการฝากเงิน

2.2 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ฝากไว้กับผู้รับฝากเงินจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(3) กรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

(ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมิให้ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ได้สิทธิยกเว้นดังนี้

1) กรณียื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

2) กรณีแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

การได้รับยกเว้นภาษีตามดังกล่าว เมื่อรวมกับค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47 (1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตามข้อ 2 (61) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 326 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2.3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากธนาคารผู้รับฝากเงินที่พิสูจน์ได้ว่ามีการส่งเงินฝากตามข้อ 2.1   กรณีการฝากเงินตามข้อ 2.1 ที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุการฝากเงิน หลักฐานตามวรรคหนึ่งต้องระบุเงื่อนไขตามข้อ 2.1 (2) ด้วย

2.4 กรณีผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 5.2.2 แล้ว และต่อมาไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 4.2.1 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 5.2.2 และต้องเสียภาษีเงินได้ สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินฝากตามข้อ 4.2.1 ไปหักออกจากเงินได้ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้ว นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

2.5 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

3.ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการฝากเงินกับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะและได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ดังกล่าว

 

ส่วนหนึ่งจากบทความ การหักลดหย่อนเงินฝากแบบประกันชีวิต โดยอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ติดตามบทความฉบับสมบูรณ์ได้จากวารสาร เอกสารภาษีอากร ปีที่ 36 ฉบับที่ 431 เดือนสิงหาคม 2560

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart