การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องและประหยัด
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปกฏหมายให้ผู้มีเงินได้ในปีภาษี (ปีปฏิทิน) ที่ล่วงมาแล้วมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเมินตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสถานที่อื่นที่กำหมายกำหนด ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี) นอกจากผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสงดรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายปีแล้ว บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องชำระภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาด้วยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี บางกรณีก็กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ทำการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย นำส่งต่อกรมสรรพากร และบางกรณีก็กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตลอดจนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีนั้น ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคลธรรมดาแต่ละปีจึงอาจมีกรณีเสียภาษีเพิ่มเติม หรือบางกรณีอาจได้รับภาษีคืนก็ได้ เช่น ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินกว่าที่ ต้องเสียเป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนไม่เสียภาษีอาจถูกประเมินให้เสียภาษีพร้อมด้วยเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม ซึ่งอาจถูกดำเนินการอายัดหรือยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดนำเงินไปชำระภาษี ตลอดจนอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ 1) บุคคลธรรมดา 2) ผู้ถึงแก่ความตาย 3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง 4) ห้างหุ้นส่วนสามัญ 5) คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยผู้ที่มีเงินได้ดังกล่าวจะต้องยื่นแบบฟอร์มของกรมสรรพากรเพื่อแสดงเงินได้ของตนก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ 1) ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเงินเดือน/ค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น ถ้าไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท แต่ถ้ามีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 120,000 บาท 2) ผู้มีเงินได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงานที่ได้รับในปีภาษีนั้น ถ้าไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท แต่ถ้ามีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 120,000 บาท 3) กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 60,000 บาท 4) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 60,000 บาท 5) วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมขนเฉพาะส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือมีเงินได้เกิน 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ประกาศ
สำหรับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้สามารถคำนวณภาษีและใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆทางภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ควรเริ่มต้นจากการศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากร (ประมวลรัษฎากรคือชื่อของกฎหมายภาษีอากรฉบับหนึ่ง ที่ระบุการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าว) โดยกรมสรรพากรได้นำความรู้เรื่องภาษีต่างๆ จากประมวลรัษฎากรรวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแสดงไว้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้องในการนำมาใช้ในการคำนวณภาษีในแต่ละปี อีกประการหนึ่ง หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเสียภาษีนั้น ทางราชการมักมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและเกณฑ์การคำนวณภาษีในแต่ละปีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นบุคคลธรรมดาที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการวางแผนภาษีเงินได้ จึงละเลยไม่ได้ที่จะต้องศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีให้เข้าใจก่อนทำการวางแผนเสมอ โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนทำการวางแผนภาษี คือหลักเกณฑ์ของรายการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษี ประกอบด้วยรายการตามสมการคำนวณภาษีดังนี้
สมการที่ 1 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
สมการที่ 2 : เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
จากสองสมการข้างต้นอธิบายได้ว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระในสมการที่ 1 คำนวณจากเงินได้สุทธิคูณกับอัตราคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนเงินได้สุทธิก็คำนวณได้จาก การนำเงินได้พึงประเมินมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด ดังที่แสดงในสมการที่ 2 ดังนั้น เมื่อรวมสองสมการเข้าด้วยกัน จะได้สมการคำนวณภาษี สมการที่ 3 ซึ่งมีรายการต่างๆที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในสมการเดียวกัน ดังนี้
สมการที่ 3 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ = (เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
คำว่าเงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณเงินได้สุทธิดังกล่าว เป็นชื่อเรียกตามกฎหมายของเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบด้วย 1) เงินที่ได้รับจริง 2) ทรัพย์สินที่ได้รับจริงและสามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้ 3) ประโยชน์ที่ได้รับจริงที่สามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้ 4) เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ และ 5) เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึงสิทธิหรือประโยชน์อันมีมูลค่าเป็นเงินที่ผู้เสียภาษีได้รับเนื่องจากได้เสียภาษีล่วงหน้าไว้แล้ว หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ทั้งนี้เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษียังต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินได้ด้วย ซึ่งอาจมาจากแหล่งเงินได้ภายในประเทศหรือแหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ ว่าเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น กฎหมายกำหนดว่า ผู้มีเงินได้อันเกิดจากแหล่งในประเทศ จากการมีหน้าที่งานที่ทำในประเทศ หรือกิจการที่ทำในประเทศ หรือกิจการของนายจ้างในประเทศ หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากรกำหนดไว้เสมอ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม เป็นต้น รายละเอียดในประเด็นนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เรื่องของเงินได้ยังพบว่า มีเงินได้อีกหลายกรณีที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษี ได้แก่ การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับต่างๆ เป็นต้น เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามที่ระบุในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรมีถึง 120 รายการ เช่น ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย การยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ เป็นต้น ผู้ที่ต้องการวางแผนภาษีจึงควรเข้าไปอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาว่าเงินได้ที่ตนได้รับเข้าข่ายเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามรายการที่กฎหมายระบุหรือไม่ หากไม่แน่ใจ สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ประจำอยู่ตามเขตต่างๆ อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเงินได้ประเภทนั้นๆ ต้องนำมารวมในการยื่นแบบแสดงเงินได้ต่อกรมสรรพากรหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีหนึ่งของการใช้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดให้เห็นได้ว่าจากสมการที่ 3 ข้างต้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระมีรายการสำคัญที่ควรทำความเข้าใจอยู่ 4 รายการ คือ 1) ประเภทของเงินได้พึงประเมิน 2) รายการที่หักค่าใช้จ่ายได้ตามประเภทของเงินได้พึงประเมิน 3) รายการค่าลดหย่อนที่กฎหมายยอมให้นำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษี และ 4) อัตราคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งแต่ละรายการมีรายละเอียดโดยสรุปจากเว็บไซด์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) อยู่ในตารางที่ 1 – ตารางที่ 3 ดังนี้
ตารางที่ 1 ประเภทเงินได้พึงประเมินและเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทของเงินได้พึงประเมิน
ประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 | เกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย |
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง เป็นต้น | หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท |
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เบี้ยประชุม เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ | หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท |
(3) ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นเป็นต้น | หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ ยกเว้นค่าแห่งลิขสิทธิ์หักได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
(4) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น | กฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น |
(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น บ้าน อพาร์ตเม้นท์ คอนโดมิเนียม ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น | หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่นบ้านหักได้ร้อยละ 30 ที่ดินใช้ในการเกษตรหักได้ร้อยละ 20 ที่ดินไม่ใช้ในการเกษตรหักได้ร้อยละ 15 ยานพาหนะหักได้ร้อยละ 30 เป็นต้น |
(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ | หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด โดยเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระนอกนั้นหักได้ร้อยละ 30 |
(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ | หักตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 (ตั้งแต่ปีภาษี 2560) |
8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่7 แล้ว | หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักเป็นการเหมาในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 60 เงินได้การแสดงของนักแสดงละครภาพยนต์ นักร้อง นักดนตรี หรือนักแสดงเพื่อการบันเทิงใดๆ ส่วนไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60 ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 (การหักค่าใช้จ่ายทั้งสองกรณี รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท) |
ตารางที่ 2 รายการลดหย่อนและเกณฑ์การหักลดหหย่อนของแต่ละรายการ
รายการลดหย่อน | เกณฑ์การหักค่าลดหย่อน |
ผู้มีเงินได้ สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ | ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท คู่สมรสของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท |
การหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรม | คนละ 30,000 บาท และสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในหรือหลังปี พ.ศ. 2561 ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท |
ค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ค่าเบี้ยประกันสุขภาพผู้มีเงินได้ |
ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าเบี้ยประกันชีวิตในกรณีทำประกันชีวิตแบบบำนาญ | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท |
เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท |
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด | ตามที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม | ตามจำนวนที่จ่ายจริง |
ค่าลดหย่อนบิดามารดา ตามเงื่อนไขที่กำหนด | คนละ 30,000 บาท |
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา หรือผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ | คนละ 60,000 บาท |
เงินบริจาคทั่วไป | ร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว |
เงินบริจาคเพื่อการศึกา กีฬา พัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ | ได้สิทธิ 2 เท่า แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหลักค่าลดหย่อนแล้ว |
ตารางที่ 3 บัญชีแสดงอัตราภาษีอากรแบบก้าวหน้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับปีภาษี 2563 | ||||
เงินได้สุทธิ (ส่วนที่เกิน…..-…….) |
อัตราภาษีร้อยละ | ภาษีสะสม | ||
0-300,000 300,001-500,000 500,000-750,000 750,000-1,000,000 1,000,000-2,000,000 2,000,000-5,000,000 5,000,000 ขึ้นไป |
5 10 15 20 25 30 35 |
7,500 27,500 65,000 115,000 365,000 1,265,000 ∞ |
ที่มา : กลุ่มนักวิชาการสรรพากร. ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 2564, หน้า 68
แนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการวางแผนภาษีเพื่อให้ภาษีที่ต้องชำระ ถูกต้อง ครบถ้วน และใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายให้สิทธิ์แก่ผู้เสียภาษี โดยแนวทางการวางแผนตามลักษณะนี้ ย่อมทำให้เกิดการประหยัดค่าภาษีที่ต้องชำระได้ การวางแผนใช้แนวคิดตามหลักของคณิตศาสตร์เข้ามาช่วย โดยนำสมการคำนวณภาษีที่ต้องชำระมาพิจารณา (ดูสมการที่ 1 – สมการที่ 3 ประกอบ) ทำให้มองเห็นว่าจากสมการที่ 1 ถ้าสามารถลดเงินได้สุทธิลงได้ ภาษีเงินได้ที่ต้องชำระก็สามารถลดลงได้ ซึ่งเงินได้สุทธิจะลดลงได้ (ดูสมการที่ 2) ก็ต้องพยายามทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณภาษีลดลง หรือใช้การเพิ่มค่าใช้จ่าย/เพิ่มค่าลดหย่อน หรือเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ซึ่งสามารถสรุปแนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบทความนี้ตามสมการรวม สมการที่ 3 ได้ 4 แนวทางคือ 1) การทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณภาษีลดลง 2) การเพิ่มค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้พึงประเมิน 3) การเพิ่มรายการค่าลดหย่อน และ 4) การเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
1. จากที่กล่าวข้างต้น แต่ละแนวทางมีรายละเอียด ดังนี้ 1. การทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้ในการคำนวณภาษีลดลง อาจทำได้หลายกรณี ได้แก่ แยกยื่นภาษี เพราะกรณีสามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ หากนำมารวมกันคำนวณภาษี จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง เนื่องจากภาษีที่ใช้คำนวณ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) เป็นภาษีอัตราก้าวหน้า ถ้าต่างฝ่ายต่างแยกยื่น ซึ่งกฎหมายยอมให้สามีและภรรยาสามารถแยกยื่นได้ จะทำให้สามารถเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้เช่น สมมติว่าสามีและภรรยามีเงินได้สุทธิรวมกันเท่ากับ 800,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณภาษีตามตารางที่ 3 จะได้ว่าทั้งคู่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 70,000 บาท แต่ถ้าแยกเงินได้สุทธิเป็นของสามี 500,000 บาท ของภรรยา 300,000 บาท แล้วคำนวณภาษีใหม่ ตามตารางที่ 3 จะพบว่า สามีจะเสียภาษีเงินได้เท่ากับ 25,000 บาท ส่วนภรรยาจะเสียภาษีเงินได้เท่ากับ 2,500 บาท รวมภาษีเงินได้ที่ทั้งคู่ต้องชำระ (25,000 + 2,500) เท่ากับ 27,500 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่รวมเงินได้ของทั้งคู่คำนวณภาษีและยื่นภาษีรวมกัน เห็นได้ว่าการแยกยื่นภาษีสามารถประหยัดเงินที่ต้องเสียภาษีลงได้ (70,000 – 27,500) เท่ากับ 42,500 บาท เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีแยกหน่วยภาษีออกเป็นหลายๆ หน่วยเพื่อกระจายเงินได้ไปตามหน่วยภาษี ทำให้แต่ละหน่วยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้ เช่น นายแดงเงินได้จากงานประจำเดือนละ 50,000 บาท กับมีรายได้จาการทำงานพิเศษนอกเนือจากงานประจำอีกเดือนละ 20,000 บาท ถ้าไม่แยกหน่วยภาษี นายแดงต้องนำเงินได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้นายแดงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง แต่ถ้านายแดงนำเงินได้เฉพาะเงินได้ประจำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วแยกเงินได้พิเศษมาจดทะเบียนตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปวิสาหกิจขนาดย่อม (SME) เงินได้พิเศษนี้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงตามหลักฐานในการทำบัญชีและสามารถหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งมีอัตราที่ต่ำมากได้ก็จะทำให้เงินได้ทั้งหมดของนาแดงสามารถประหยัดภาษีที่ต้องชำระลงได้
2. การเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ทำได้โดยนำเงินได้บางประเภท เช่น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) ที่กฎหมายยอมให้เลือกเสียภาษีในอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) ไม่นำมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีอีกตอนสิ้นปี หากการวางแผนภาษีพบว่า การเลือกไม่นำมารวมกับรายได้อื่นจะมีผลดีทางภาษีมากกว่า กล่าวคือทำให้สามารถประหยัดภาษีเงินได้ที่ต้องชำระลงได้ เงินได้เหล่านั้นได้แก่ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วในอัตราร้อยละ 15 เงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เงินปันผลจากการลงทุนในกองทุนรวมที่เลือกเสียภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 เป็นต้น
3. การเพิ่มค่าลดหย่อน ทำได้โดยเลือกใช้สิทธิประโยชน์จากรายการลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดให้มากขึ้น เช่น ในปีภาษีปัจจุบัน (ปีภาษี 2563) ในตารางที่ 2 มีรายการลดหย่อนที่สามารถนำไปหักเงินได้สุทธิได้หลายรายการ เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เป็นต้น รายการเหล่านี้จะทำให้ค่าลดหย่อนที่ไปหักเงินได้พึงประเมินเพิ่มมากขึ้น ทำให้เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องชำระจึงทำให้สามารถประหยัดภาษีได้
4. การเพิ่มค่าใช้จ่าย ทำได้โดยพิจารณาเงินได้ที่ได้รับว่าเข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินได้จากงานประจำ และหน้าที่งานหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น แต่มีเงินได้ประเภทอื่นๆ ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้มากกว่า (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ได้แก่ เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระดังนั้นถ้าผู้เสียภาษีมีเงินได้หลายประเภทก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เช่น นายแดงทำงานเป็นวิศวกรเครื่องกลให้บริษัทแห่งหนึ่ง และมีคุณสมบัติและใบแสดงวุฒิที่สามารถควบคุมหม้อน้ำได้ ปรากฎว่าบริษัทในเครือได้มาว่าจ้างให้นายแดงตรวจสอบหม้อน้ำให้ ทำให้นายแดงมีเงินได้จากการรับตรวจสอบหม้อน้ำด้วย กรณนี้เงินได้ของนายแดงจะมี 2 ประเภท คือ จากเงินเดือนประจำตามมาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเงินได้จากการรับตรวจสอบหม้อน้ำเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 30 ทำให้ค่าใช้จ่ายที่นำไปหักเงินได้สุทธิเพิ่มมากขึ้น เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีก็จะลดลง ส่งผลให้ภาษีที่คำนวณได้ลดลงจากเดิมได้ เป็นต้น
ตัวอย่าง การเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย – นายปทุมมีอาชีพเป็นวิศวกรเครื่องกล ทำงานประจำในบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือน 100,000 บาท/เดือน จ่ายประกันสังคม 9,000 บาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ร้อยละ 3 ของเงินเดือน นอกจากนี้ นายปทุมยังรับจ้างตรวจหม้อน้ำให้กับบริษัท ในเครือด้วยเพราะมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีเงินได้จากการรับจ้างอีกปีละ 500,000 บาท ที่ผ่านมาบริษัทในเครือออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(2) ด้วยเข้าใจว่าเป็นหน้าที่งานเกี่ยวเนื่องกัน จนมีผู้แนะนำนายปทุมให้แจ้งบริษัทเหล่านั้นว่าการรับจ้างตรวจหม้อน้ำให้บริษัทอื่นๆ เป็นการกระทำในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) ซึ่งจะทำให้นายปทุมสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 30
ก่อนการวางแผนภาษี
เงินได้พึงประเมิน = เงินเดือน + เงินได้พิเศษ = 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย = ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท = 100,000 บาท
หักค่าลดหย่อน = ผู้มีเงินได้ + ค่าประกันสังคม + เงินจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ = 60,000 + 9,000 + 36,000 = 105,000 บาท
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน– ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = 1,700,000 – 100,000 – 105,000 = 1,495,000 บาท
คำนวณภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = 238,750 บาท
เงินได้คงเหลือ = เงินได้พึงประเมิน – ภาษีที่ต้องชำระ = 1,700,000 – 238,750 = 1,461,250 บาท
อัตราภาษีที่แท้จริง = (ภาษีที่ต้องชำระหารด้วยเงินได้พึงประเมิน) x 100 = (238,750/1,700,000) x 100 = 14.04%
หลังวางแผนภาษี – โดยนำเงินได้พิเศษจากการรับจ้างไปเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) แทนเงินได้พึงประเมิน = เงินเดือน + เงินได้พิเศษ = 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย = ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท บวก ค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ 30 ของเงินได้รับจ้าง = 100,000 + 150,000 = 210,000 บาท
หักค่าลดหย่อน = ผู้มีเงินได้ + ค่าประกันสังคม + เงินจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ= 60,000 + 9,000 + 36,000 = 105,000 บาท
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = 1,700,000 – 210,000 – 105,000 = 1,385,000 บาท
คำนวณภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = 211,250 บาท
เงินได้คงเหลือ = เงินได้พึงประเมิน – ภาษีที่ต้องชำระ = 1,700,000 – 211,250 = 1,488,750 บาท
อัตราภาษีที่แท้จริง = (ภาษีที่ต้องชำระหารด้วยเงินได้พึงประเมิน) x 100 = (211,250/1,700,000) x 100 = 12.43%
สรุปเป็นตารางเปรียบเทียบตารางที่ 4 ได้ว่า หลังวางแผนภาษีโดยนำเงินได้พิเศษจากการรับจ้างไปเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) แทน ทำให้หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ภาษีที่ต้องชำระลดลง นั่นคือเกิดการประหยัดในภาษีที่ต้องจ่าย ส่งผลให้เงินได้คงเหลือหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นเท่ากับภาษีที่ต้องชำระที่ลดลง และอัตราภาษีที่แท้จริงลดลงไปร้อยละ 1.61
ตารางที่ 4 ตารางเปรียบเทียบ ภาษีที่ต้องชำระ เงินได้คงเหลือหลังหักภาษี และอัตราภาษีที่แท้จริง ก่อนและหลังวางแผนภาษี กรณีตัวอย่าง การเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย
รายการ | ก่อนวางแผนภาษี | หลังวางแผนภาษี | การเปลี่ยนแปลงหลังวางแผนภาษี |
ภาษีที่ต้องชำระ | 238,750 | 211,250 | ลดลง 238,750 – 211,250 = 27,500 |
เงินได้คงเหลือหลังหักภาษี | 1,461,250 | 1,488,750 | เพิ่มขึ้น 1,461,250 – 1,488,750 =27,500 |
อัตราภาษีที่แท้จริง | 14.04% | 12.43% | ลดลง 14.04 – 12.43 = 1.61% |
สรุป
การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือการกำหนดแนวทางปฎิบัติในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องและสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด ซึ่งไม่ใช่แนวทางการหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มาคำนวณภาษีอย่างถูกต้องทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายจริงสามารถลดลงจากเดิมที่ไม่ได้วางแผนภาษีได้ เรียกว่าทำให้เกิดการประหยัดในภาษีที่ต้องชำระอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์หลักของการวางแผนภาษี โดยแนวทางการวางแผนที่สามารถลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ ในบทความนี้ ประกอบด้วย แนวทางการลดเงินได้พึงประเมิน การเพิ่มค่าใช้จ่าย/ค่าลดหย่อน และการเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ตามที่ยกตัวอย่างข้างต้น จึงหวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้และช่วยให้ผู้วางแผนภาษีมีความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จากสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนดให้มากยิ่งขึ้น
Cr. https://www.spu.ac.th/fac/account/th/content.php?cid=24373
สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี
ส่วนหนึ่งของผลงานดูแลลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้แอคโปรแท็ค (AccProTax) ดูแล จนลูกค้าประทับใจในบริการ และยกนิ้วให้