เงินเดือนเท่าไร ต้องเสียภาษี ?
เงินเดือนเท่าไรต้องเสียภาษี ?
เหล่ามนุษย์เงินเดือนมักมีคำถามเสมอว่า เงินเดือนเท่าไร ต้องเริ่มเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปคนมักเข้าใจผิดกันว่า ผู้ที่มีเงินเดือนรวมทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาทนั้นไม่จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่แท้จริงแล้ว ในกรณีที่โสด หากมีเงินเดือนรวมทั้งปีเกิน 120,000 บาทขึ้นไป จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แม้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม
สำหรับการคำนวณภาษีนั้น ต้องนำเงินเดือนรวมทั้งปีมาคำนวณหา “เงินได้สุทธิ” โดยหักเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคำนวณจาก…
เงินเดือนรวมทั้งปี – [เงินได้ที่ได้รับยกเว้น (ถ้ามี) + ค่าใช้จ่าย + ค่าลดหย่อน + เงินบริจาค] = เงินได้สุทธิ
เมื่อได้ “เงินได้สุทธิแล้ว” ให้นำไปเทียบหา “อัตราภาษี” ในตารางด้านล่าง เพื่อคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี (5-35%)
เงินได้สุทธิต่อปี (บาท) | อัตราภาษี |
---|---|
ไม่เกิน 150,000 บาท | ไม่ต้องเสียภาษี |
ตั้งแต่ 150,001 บาท – 300,000 บาท | 5% |
ตั้งแต่ 300,001 บาท – 500,000 บาท | 10% |
ตั้งแต่ 500,001 บาท – 750,000 บาท | 15% |
ตั้งแต่ 750,001 บาท – 1,000,000 บาท | 20% |
ตั้งแต่ 1,000,001 บาท – 2,000,000 บาท | 25% |
ตั้งแต่ 2,000,001 บาท – 5,000,000 บาท | 30% |
ตั้งแต่ 5,000,001 บาท ขึ้นไป | 35% |
ตัวอย่าง
นายโอชิ ได้รับเงินเดือนเดือนละ 35,000 บาท (ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย) ตั้งแต่เดือนม.ค. – ธ.ค. 2566 โดยมีรายได้แค่ช่องทางเดียว โดยนายโอชิยังโสด แต่ต้องอุปการะมารดาอายุ 62 ปี เนื่องจากมารดาไม่มีเงินได้ นอกจากนั้น นายโอชิยังทำประกันสะสมทรัพย์ โอเชี่ยนไลฟ์ ออมสบาย 10/5 โดยชำระเบี้ยประกันชีวิตปีละ 30,000 บาท และยังบริจาคให้มูลนิธิสงเคราะห์สัตว์จำนวน 1,000 บาทอีกด้วย
นายโอชิจะต้องคำนวณเงินได้สุทธิดังนี้
- เงินเดือน 35,000 × 12 = 420,000 บาท
- ค่าใช้จ่าย 420,000 × 50% = 210,000 แต่กฏหมายกำหนดไว้ให้ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น นายโอชิหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาที่อายุเกิน 60 ปี จำนวน 30,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต ปีละ 30,000 บาท
- เงินบริจาค 1,000 บาท
เนื่องจากนายโอชิไม่มีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นในปี 2566 จึงไม่ต้องนำมาคำนวณหาเงินได้สุทธิ
เงินเดือนรวมทั้งปี – [ค่าใช้จ่าย + ค่าลดหย่อน + เงินบริจาค] = เงินได้สุทธิ
420,000 – [100,000 + (60,000 + 30,000 + 30,000) + 1,000] = 199,000
ดังนั้น นายโอชิ มีเงินได้สุทธิทั้งหมด 199,000 บาท จึงต้องเสียภาษี 5% โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 150,000 บาทแรก และส่วนที่เหลือ 49,000 บาทต้องเสียภาษีในอัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษีทั้งปีเท่ากับ 2,450 บาท
จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่านายโอชิเสียภาษีในจำนวนไม่มากนัก จึงชำระได้อย่างไม่ลำบาก ซึ่งหากไม่มีการทำประกันลดหย่อนภาษีเอาไว้ นายโอชิจะต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงกว่า ดังนั้น ทุกคนจึงควรทำประกันลดหย่อนภาษีไว้บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีรายได้สูงกว่าตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น
อ้างอิง :
คู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกรมสรรพากร
ที่มา https://www.ocean.co.th/articles/how-much-tax-do-you-have-to-pay