รู้ก่อนใคร! รายการลดหย่อนภาษี 2567 เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ในช่วงต้นปีนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2567 ก็ต้องมองหารายการลดหย่อนภาษี ว่าสามารถนำอะไรไปลดย่อนได้บ้าง ที่จะนำเงินได้ของปี 2566 มาคำนวณแล้วยื่นภาษีในปีนี้ ตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนดเอาไว้ ทั้งการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.91 ซึ่งดีเดย์ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเปิดให้ยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนไปยื่นภาษีด้วยตนเอง เรามาดูกันว่าในปีนี้รายการลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ที่สามารถนำไปใช้ได้ แล้วมีมาตรการไหนหรือบ้าง ที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในปีนี้
ทำความรู้จัก “รายการลดหย่อนภาษี” สำหรับมนุษย์เงินเดือน
คำว่า “รายการลดหย่อนภาษี” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ค่าลดหย่อนภาษี” เป็นรายการที่ทางกฎหมายกำหนดให้หักการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแบ่งเบาภาระทางด้านภาษีให้กับผู้เสียภาษี เช่น การจ่ายภาษีได้ถูกลง หรือการขอรับเงินคืนภาษี โดยสิทธิในการลดหย่อนภาษีนั้น จะมีหลากหลายหมวดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนบุตร ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรการทีทางรัฐกำหนดให้ในแต่ละปี เช่น โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น
รวมรายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้างที่ใช้ได้
สำหรับการรายการลดหย่อนภาษี 2567 ที่ใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ผู้ที่มีเงินได้สามารถลดหย่อนได้หลากหลายหมวดด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
สำหรับค่าลดหย่อนส่วนตัวนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้ค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ปีละ 60,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิได้ทันทีทั้งการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ซึ่งหากยื่นภาษีทางออนไลน์จะมีรายการลดหย่อนส่วนตัวให้โดยอัตโนมัติ
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 60,000 บาท
ในกรณีที่ใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 1 คน และต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือว่ามีรายได้ในปีนั้น ๆ เช่น หากยื่นภาษีในปี 2567 นี้ ก็เท่ากับว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา จะต้องไม่มีเงินได้เลย เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีเงินได้ทั้งคู่ สามารถยื่นภาษีรวมกันแล้วใช้สิทธิลดหย่อนในหมวดหมู่นี้ได้
3. ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย คนละ 30,000 บาท
ในกรณีที่ต้องการใช้ค่าลดหย่อนบุตร สามารถใช้สิทธิได้คนละ 30,000 บาท ส่วนถ้ามีบุตรคนที่ 2 โดยนับตั้งแต่ที่เกิดในปี 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน และต้องมีชีวิตอยู่เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนบุตรที่มีอายุตั้งแต่ 21 – 25 ปี จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป และบุตรจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ยกเว้นกรณีที่ได้รับเงินปันผล
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท
โดยบุตรที่เลี้ยงดุพ่อแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือก็คือเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง นอกจากนี้ พ่อแม่จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ส่วนกรณีที่มีพี่น้องที่มีเงินได้แล้วต้องการใช้สิทธิลดหย่อน จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าใครจะใช้สิทธิตรงนี้ เพราะว่าตามกฎหมายให้ใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำกันได้ ส่วนใครที่ใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดา จะต้องทำหนังสือรับรองการหักค่าลดหย่อน หรือ ลย.03 ประกอบกัน
5. ค่าลดหย่อนผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ใช้สิทธิได้คนละ 60,000 บาท
หากเป็นผู้อุปการะหรือว่าผู้ดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท แต่เงื่อนไขคือ จะต้องมีหลักฐานในการยื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น บัตรประจำตัวผู้พิการหรือว่าใบรับรองแพทย์ และใบ ลย.04
6. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
ในกรณีที่มีการฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง โดยไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งกรณีที่ยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายแล้วให้เป็นของภรรยา แต่ถ้ากรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้สามีจึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตรงนี้แทนได้ ซึ่งจะต้องยื่นควบคู่กับใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์
7. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน
- ประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท
- ประกันชีวิตทั่วไป + สะสมทรัพย์ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสังคม 9,000 บาท
- ประกันสุขภาพพ่อแม่ ไม่เกิน 15,000 บาท
- กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 200,000 บาท และหากรวมกับกองทุนอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
1. โครงการช้อปดีมีคืน 2566
สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ได้ตามที่จ่ายจริง แต่เงื่อนไขคือ ต้องไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสิทธิลดหย่อนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มสินค้าหรือบริการ 30,000 บาทแรก สามารถใช้ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเป็นหลักฐาน และค่าสินค้าหรือบริการ 10,000 บาทที่เหลือ ต้องใช้ใบเสร็จรับเงินหรือว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นลดย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น
หมายเหตุ : ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากโครงการช้อปดีมีคืน 2566 ได้
2. ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้าน
หากใครที่ซื้อคอนโดหรือบ้าน สามารถนำดอกเบี้ยที่ได้จากการซื้อที่อยู่อาศัย มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องยื่นร่วมกับเอกสารรับรองการจ่ายดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ออกให้ ส่วนกรณีที่ซื้อแบบกู้ร่วมสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเฉลี่ยตามจำนวนผู้ร่วมกู้
ลดหย่อนภาษี 2567 ด้วย e-Tax Invoice กับ Easy E-Receipt
อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ โครงการ Easy E-Receipt ที่สามารถนำค่าซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงสุดถึง 50,000 บาท โดยจะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการภายในวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยโครงการนี้ทางผู้ให้บริการจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยโครงการนี้ยังเข้าเกณฑ์ Digital Wallet ด้วย รวมถึงการใช้บริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าโรงแรมหรือค่าตั๋วเครื่องบิน อุปกรณ์ไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ตลอดจนร้านค้าทั่วไปที่สามารถออกใบกำกับภาษี e-Tax Invoice & e-Receipt ให้ได้ (ไม่สามารถใช้แบบกระดาษได้) ทั้งนี้ หากร้านค้าไม่ได้จดทะเบียนภาษี จะต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นหนังสือพิมพ์ และนิตยสารทุกรูปแบบ หรือเป็นสินค้าจากโครงการ OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน
หมายเหตุ : ใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2567 ที่จะเก็บภาษีในช่วงต้นปี 2568
Cr. https://smemove.com/blog/ลดหย่อนภาษี-2567/