ใบลดหนี้

ใบลดหนี้

ใบลดหนี้คืออะไร?

ใบลดหนี้ (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Credit Note หรือ CN) เกิดจากการที่ ผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว แต่ต่อมามีเหตุการณ์ให้ราคาของสินค้า/บริการลดลง เช่น สินค้า/บริการชำรุดบกพร่อง ขาดจำนวน ทำให้ผู้ขายตกลงลดราคาให้ผู้ซื้อ

เมื่อผู้ขายลดราคาให้ แปลว่าผู้ซื้อเป็นหนี้น้อยลง ผู้ขายจึงออก “ใบลดหนี้” ให้ผู้ซื้อนั่นเอง

เงื่อนไขกรมสรรพากรในการออกใบลดหนี้

ใบลดหนี้จะถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/10 ได้ จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. ผู้ออกใบลดหนี้ (ผู้ขาย) เป็นผู้จดทะเบียน VAT
  2. เคยมีการออกใบกำกับภาษีไปแล้ว
  3. ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นสาเหตุในการออกใบลดหนี้ด้านล่างนี้เกิดขึ้น  เป็นเหตุให้ภาษีขายลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

สาเหตุในการออกใบลดหนี้

การออกใบลดหนี้ ทำให้ภาษีขายลดลง แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะออกใบลดหนี้ได้  การออกใบลดหนี้ที่กรมสรรพากรอนุญาตจะต้องเกิดจากสาเหตุดังนี้

(ก) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจาก

  • สินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน
  • สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน
  • คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงหรือ
  • เนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ข) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจาก

  • ให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน
  • บริการขาดจำนวน
  • คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือ
  • เนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ค) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจาก

  • สินค้าชำรุดบกพร่อง
  • ไม่ตรงตามตัวอย่าง
  • ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือ
  • เนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ง) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

(จ) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้าเงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

(ฉ) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

(ช) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

(ซ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจาก

  • การให้บริการบกพร่องหรือ
  • ให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

(ฌ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา

ใบลดหนี้ที่ถูกต้องตามกรมสรรพากร

สรรพากรได้กำหนดรายละเอียดที่ต้องมีในใบลดหนี้ไว้  โดยใบลดหนี้ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

  1. คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ระบุชื่อ ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
  5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิมรวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี) มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวมูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสอง และจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น
  6. คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้

ใบลดหนี้ ต้องออกเมื่อใด? ยื่นภาษีอย่างไร?

ฝั่งผู้ขายต้องออกใบลดหนี้ และนำไปยื่นภาษีภายในระยะเวลาดังนี้

  • ผู้ขายต้องออกใบลดหนี้ และนำยอดVAT ในใบลดหนี้ไปหักยอดภาษีขาย ในเดือนที่เกิดเหตุการณ์อันเป็นสาเหตุให้ออกใบลดหนี้
  • แต่หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ในเดือนนั้นได้  ก็ให้ออกใบลดหนี้และลดภาษีขาย ในเดือนถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
  • สามารถออกใบลดหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับได้

ฝั่งผู้ซื้อต้องออกใบลดหนี้ และนำไปยื่นภาษีภายในระยะเวลาดังนี้

  • ผู้ซื้อต้องใช้ใบลดหนี้ภายใน “เดือนที่ได้รับ” เท่านั้น ไม่สามารถใช้ข้ามเดือนได้
  • กล่าวคือ ผู้ซื้อจะต้องนำยอด VAT ในใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อของตนใน “เดือนที่ได้รับ” ใบลดหนี้เท่านั้น

ใบลดหนี้ใช้ได้กี่เดือน? ใบลดหนี้ใช้ข้ามเดือนได้หรือไม่?

ผู้ซื้อสามารถนำใบลดหนี้มาใช้ลดภาษีซื้อได้เพียงแค่ภายในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้เท่านั้น ไม่สามารถใช้ใบลดหนี้ข้ามเดือนได้

ใบลดหนี้หาย…ต้องทำอย่างไร?

การออกใบแทนใบลดหนี้

หากใบลดหนี้ สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ซื้อสามารถร้องขอให้ผู้ขายออกใบแทนใบลดหนี้ให้ได้

โดยผู้ขายสามารถออกใบแทนใบลดหนี้ได้โดยถ่ายสำเนาใบลดหนี้ และบันทึกรายการดังนี้ ลงในภาพถ่ายหรือด้านหลังของภาพถ่าย และด้านหลังสำเนาใบลดหนี้ ให้บันทึกรายการ

  1. ใบแทนออกให้ครั้งที่
  2. วัน เดือน ปีที่ออกใบแทน
  3. คำอธิบายย่อ ๆ สาเหตุการออกใบแทน
  4. ลงลายชื่อของผู้ออกใบแทน

และผู้ขายต้องบันทึกรายการการออกใบแทนในรายงานภาษีขาย ในเดือนที่มีการออกใบแทน โดยระบุชื่อผู้ซื้อ เลขที่/เล่มที่ วันที่ของใบลดหนี้ที่ได้มีการออกใบแทน

อ้างอิง : ใบลดหนี้ ออกเมื่อใด ยื่นภาษีอย่างไร บันทึกบัญชีอย่างไร | (accountingcenter.co)

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart