ใครได้-ใครเสีย รีดภาษี “อี-เซอร์วิส” ทำ “แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ”
ใครได้-ใครเสีย รีดภาษี “อี-เซอร์วิส” ทำ “แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ”
ภาษีอี-เซอร์วิส (e-Service)คืออะไร?
“ภาษี” ในที่นี้ คือ VAT หรือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่จะเรียกเก็บจาก “บริการอิเล็กทรอนิกส์” และ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” ที่ให้บริการจากต่างประเทศ ไม่ได้จดทะเบียนในไทย ง่ายๆ ก็บรรดาโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราใช้กันอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google), ยูทูบ (YouTube) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) นั่นเอง
โดยการเรียกเก็บในครั้งนี้ จะคำนวณจาก “ภาษีขาย” ไม่ได้หักภาษีซื้อ
หากถามว่า ทำไมเราถึงต้องเรียกเก็บ “ภาษีอี-เซอร์วิส” จากบรรดาเจ้าพ่อโซเชียล-แอปพลิเคชันเหล่านี้ ?
ในหลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์และโฆษณาดิจิทัลสะพัดมหาศาล มูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้าน และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นทุกๆ ปี โดยปี 2563 จากการประมาณการณ์ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มองว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) จะครองเม็ดเงินสูงสุด ราว 7,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ยูทูบ (YouTube) กว่า 4,000 ล้านบาท
เห็นแบบนี้ ไทยน่าจะได้ประโยชน์ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น! เพราะเม็ดเงินที่เราอัดฉีดเข้าไปกลับย้อนกลับไปสู่ประเทศต้นทางที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้จดทะเบียนอยู่
เรียกว่า ไทยเสียเปรียบชัดๆ!!
ในข้อดี “แพลตฟอร์มดิจิทัล” จากต่างประเทศเหล่านี้ ช่วยสร้างความบันเทิงและเป็นประโยชน์ในการใช้งานให้กับเรา แต่อีกแง่หนึ่งกลับส่งผลกระทบไม่น้อยทีเดียว ตั้งแต่
- ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี
- ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน
- ไทยสูญเสียรายได้ภาษี
- ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลการซื้อขายสินค้า-บริการ
แต่แน่นอนว่า เมื่อมีการจัดเก็บ “ภาษีอี-เซอร์วิส” (e-Service) ในครั้งนี้ ย่อมมีคนได้และคนเสีย โดย “คนได้” ก็หนีไม่พ้นหน่วยงานจัดเก็บภาษี หรือก็คือ “กรมสรรพากร”
ซึ่ง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ก็คาดว่า เมื่อการจัดเก็บ “ภาษีอี-เซอร์วิส” มีผลใช้บังคับแล้ว ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้เข้ามาก่อนเดือนกันยายน โดยจากการประเมินอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวที่ว่านี้ เป็นตัวเลขที่มีการเพิ่มขึ้นจากการประเมินในช่วงแรก ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท นั่นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
และคนได้อื่นๆ อีก คือ ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าและบริการออนไลน์ และผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีในไทย
ส่วน “คนเสีย” แน่ๆ ก็คือ บรรดาขาใหญ่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีในไทย หรือก็พวกเฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google), ยูทูบ (YouTube), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ทั้งหลาย ที่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นในการเสียภาษีตรงนี้ และนั่นก็อาจส่งผลให้มี “คนเสีย” เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ “ผู้บริโภคในไทย” นั่นเอง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะผลักภาระ “ภาษีอี-เซอร์วิส” ตรงนี้ให้แก่ผู้ใช้
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ใครได้-ใครเสีย รีดภาษี “อี-เซอร์วิส” ทำ “แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ”
อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2032437