4 ขั้นตอนจดทะเบียนการค้าสำหรับร้านค้ามือใหม่
1. ใครมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนการค้าบ้าง?
ก่อนอื่นเราลองมาสำรวจกันก่อนว่าร้านค้าหรือธุรกิจของเรา อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนการค้าหรือเปล่า โดยทางกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ไว้ 5 ประเภท คือ
- บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
ส่วนการจดทะเบียนการค้าสำหรับร้านค้าออนไลน์ มี 4 ประเภท คือ
- ผู้ให้บริการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมถึง เว็บไซต์ ร้านค้าใน e-Marketplace ร้านค้าในโซเชียลมีเดียและแอพพลิเคชั่น
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP)
- ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web hosting)
- ผู้ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)
จากข้อมูลเราจะเห็นว่าการจดทะเบียนการค้านั้นครอบคลุมถึงธุรกิจเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีหน้าร้านค้าของตัวเอง บริษัท นิติบุคคล หรือแม้แต่การขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอพที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
2. เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนการค้า
- คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) หรือหากมีเว็บไซต์ให้แนบเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ด้วย
- สำเนาบัตรประจำตัว
- กรณีบุคคลธรรมดา ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีนิติบุคคล ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนหรือของกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (ไม่ต้องแนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)
- หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- หนังสือชี้แจง (สำหรับร้านค้าที่เปิดมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการค้านับตั้งแต่ 30 วันหลังเปิดร้าน)
3. สถานที่ยื่นจดทะเบียนการค้า
- ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน สำนักงาน บริษัท หรือสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าที่สำนักงานเขต 50 เขต โดยเราต้องยื่นจดทะเบียนการค้าในเขตที่ธุรกิจของเราตั้งอยู่เท่านั้น หรือยื่นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
- ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่จังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าที่เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตที่ธุรกิจของเราตั้งอยู่
4. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการค้า
มาถึงขั้นตอนที่หลายคนสงสัยว่าการจดทะเบียนการค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมอะไรหรือไม่ คำตอบก็คือ “ต้องชำระค่าธรรมเนียม” ส่วนจะมีรายการอะไรที่เราต้องจ่ายบ้าง ลองมาดูกัน
- จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
- จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
- จดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
- ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
- ขอตรวจเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจรายหนึ่ง ครั้งละ 20 บาท
- ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ฉบับละ 30 บาท
หลังจากเตรียมเอกสารและดำเนินการยื่นคำร้องจดทะเบียนการค้าที่ฝ่ายปกครองตามเขตท้องที่ที่ร้านค้าของเราตั้งอยู่ เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาดำเนินการเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพียงเท่านี้ร้านของเราก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ส่วนใครที่เปิดร้านออนไลน์ก็อาจมีขั้นตอนเพิ่มเติมคือการขอเครื่องหมาย Trustmark หรือ เครื่องหมาย DBD Registered มาแปะไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของเรานั่นเอง
วิธีขอเครื่องหมาย DBD Registered
เราสามารถขอเครื่องหมาย DBD Registered ได้ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com โดยการส่งเอกสารมาที่อีเมล์ e-commerce@dbd.go.th หรือ โทรสาร 02 547 5973
เอกสารที่ใช้ขอเครื่องหมาย DBD Registered
- สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (แบบ พค. 0403)
- สำเนารายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
- สำเนาเอกสารการจดโดเมนเนม
- เอกสารอื่น (ถ้ามี)
- ใบแสดงตัวแทนจำหน่าย
- ใบแสดงลิขสิทธิ์
- ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจนั้นๆ
เอกสารทั้งหมดสามารถดาวน์โหลดได้ที่: http://www.dbd.go.th/ewt_news.php?nid=946
ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าก็มีเพียงเท่านี้ ความจริงแล้วการจดทะเบียนการค้านั้นไม่ยากเลย เราแค่ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของระบบเท่านั้น แต่สำหรับใครที่ไม่ว่างไปดำเนินการจดทะเบียนการค้าด้วยตัวเองเพราะต้องเดินเรื่องในวันและเวลาราชการ หรือกลัวว่าจะพลาดเอกสารสำคัญตรงไหนไป ลองมาใช้บริการฟรีแลนซ์จาก https://fastwork.co/commercial-registration เพื่อลดความยุ่งยากแถมยังประหยัดเวลาและสะดวกกว่ากัน เพียงเท่านี้พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการจดทะเบียนการค้าด้วยตัวเองแล้วจ้า
อ้างอิง : https://prachatai.com/advertorial/fastwork-co