ธุรกิจออนไลน์ต้องเสียภาษียังไง
รายได้ที่ได้จากการขายของออนไลน์ก็ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
ไม่ยื่นภาษีถือว่าหนีภาษี ต้องเสียเท่าไหร่ค่อยว่ากันอีกที
บริษัทใหญ่ๆเมื่อมีการจ้างเพจดังรีวิวสินค้าของตน มักจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้อยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้ทำการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ภาษีจำนวนที่เกิดขึ้นนี้ แม่ค้าจะต้องนำส่งภาษีเอง เพื่อแสดงให้สรรพากรได้รับรู้ว่าเราเสียภาษีทุกครั้ง ไม่ต้องกลัว เพราะยังมีส่วนของค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งบางที่อาจลดหย่อนจนไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ และยังสามารถขอเครดิตภาษีในปีหน้าได้อีกด้วย แนะนำว่าให้ยื่นทุกครั้งจะดีที่สุด จะต้องเสียภาษีหรือไม่ค่อยว่ากัน
จะทำออนไลน์ยึดเป็นอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริม ยังไงก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน
ผู้ประกอบการบางคนที่ไม่เคยยื่นหรือเสียภาษีเลย จากเดิมที่เคยคิดว่าอยู่ได้ แต่ต่อไปอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการตั้งทีมตรวจเช็คธุรกิจ e-commerce จากกรมสรรพากรที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น มีกระบวนการสืบค้นหาข้อมูล ตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ แหล่งที่มาของรายได้ อาจจะขอซื้อสินค้า แล้วดูว่ามีใบเสร็จให้หรือไม่ ทำการโอนเงินเข้าบัญชีของใคร และมีรายได้เสริมจากการขายของออนไลน์ก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน ในการยื่นต้องเอารายได้ทุกประเภทมารวมกันแล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายก่อนนำไปคำนวณภาษี
3 ขั้นตอนเตรียมความพร้อมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก่อนการยื่นภาษี
1.ธุรกิจออนไลน์ที่ทำอยู่ จะทำต่อไปอีกนานแค่ไหน
ให้ดูจากยอดขาย และกำไรที่ได้ในตอนนี้ รวมถึงคาดการณ์ไปยังอนาคตว่า หากดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ จะยังทำธุรกิจต่อหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการในขั้นต่อไปของการทำธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการยื่นภาษี ยังมีทั้งการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆเพื่อขอยื่นกู้สินเชื่อในอนาคต
2.ควรทำในรูปแบบไหน ระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล
ลองเปรียบเทียบดูว่าอย่างไหนเหมาะกับธุรกิจมากกว่ากัน ทั้งนี้ทางภาครัฐได้มีมาตรการผลักดันและส่งเสริมให้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เข้าสู่รูปแบบนิติบุคคล มีสิทธิพิเศษสำหรับ SMEs ที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องของการเสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่านิติบุคคลทั่วไป
3.เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ตอนนี้เริ่มต้นทำอะไรบ้างหรือยัง
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารายได้จากการขายของออนไลน์เป็นรายได้ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40(8) กฎหมายกำหนดเพิ่มเติมไว้ว่าคนที่มีรายได้ประเภทนี้ จะต้องเสียภาษีปีละสองครั้ง นั่นคือ
- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) รายได้ที่เกิดในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. ของปี โดยปกติแล้วจะเปิดให้ยื่นประมาณช่วงเดือนก.ค. – ก.ย. ในบางปีมีการขยายเวลา สามารถตรวจสอบได้กับทางเว็บไซต์กรมสรรพากร
- ภาษีทั้งปี (ภ.ง.ด. 90) เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ยื่นได้ตั้งแต่ ม.ค. – มี.ค. ของปีภาษีถัดไป
อย่าคิดว่าเวลาล่วงเลยมาถึงขนาดนี้แล้วรอยื่นปีหน้าทีเดียวเลยดีกว่า คิดแบบนี้ไม่ถูก ยื่นอันไหนทันให้ยื่นไปก่อน เช่น กิจการดำเนินมาถึงช่วงกลางปี ก็เตรียมยื่น ภ.ง.ด. 94 ได้ หากมีการเรียกดูจะได้มีหลักฐานยืนยัน ซึ่งการเริ่มต้นยื่นภาษีเงินได้นั้น ให้ยื่นรายได้ตามความจริง สำหรับแม่ค้าออนไลน์เช็คได้จากเงินสดในส่วนของยอดขายที่โอนเข้าบัญชี
แล้วก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยยื่นจะโดนตรวจสอบย้อนหลังหรือไม่
ถ้าสรรพากรสุ่มตรวจก็มีสิทธิที่จะโดนเรียกภาษีย้อนหลังได้ หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้สู้ไปจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้องเลยดีกว่า แต่อย่าลืมว่าต่อให้พรุ่งนี้จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว แม้รายได้ที่เข้ามาจะถูกต้องในระบบ แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้ที่ผ่านมาจะถูกต้องไปด้วย เพราะถ้าโดนตรวจสอบย้อนหลัง จะมีการขอดู Statement ถ้าไม่มีหลักฐานว่าเงินที่โอนมามาจากไหน จะถูกตีเป็นรายได้ทั้งหมด แล้วนำมาคิดภาษี ที่ดูเหมือนจะหนักสุดคือ ต้องจ่ายค่าเบี้ยปรับเป็นจำนวน 1 เท่า หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระอีกด้วย อาจจะหลักแสนไปจนถึงหลักล้านก็เป็นได้
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ธุรกิจออนไลน์ต้องเสียภาษียังไง
อ้างอิง : https://taokaemai.com/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%a5%e0%b8%99%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9/