ธุรกรรมนอกงบดุลและผลกระทบต่อรายงานการเงิน
ความครบถ้วนสมบูรณ์ของการนำเสนอตัวเลขข้อมูลในงบการเงินและในหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นคุณลักษณะเชิงคุณภาพของข้อมูลทางบัญชีที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของรายงานการเงินของกิจการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของการนำเสนอรายงานการเงินของธุรกิจที่มีปัญหาคือการพยายามตกแต่งตัวเลขในงบการเงินด้วยการจัดทำธุรกรรมนอกงบการเงิน(Off-Balance Sheet Transactions) และการปกปิดซ่อนเร้นของข้อมูลที่มีนัยสำคัญ มิได้มีการเปิดเผยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ผู้ใช้รายงานการเงินเกิดความเข้าใจผิด
ส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุน ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ รายงานการเงินอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากรายการที่แสดงในงบการเงินแล้ว บริษัทควรเปิดเผยรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญอย่างครบถ้วน เช่น โครงสร้างทุนที่ซับซ้อนของกิจการ การลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า รวมทั้งข้อมูลที่เกิดขึ้นจากรายการนอกงบดุลหรือธุรกรรมนอกงบดุล
ความหมายของ “ธุรกรรมนอกงบดุล” และ “หนี้สิน”
การทำธุรกรรม/รายการนอกงบดุล หมายถึง รายการที่ทำ ให้หนี้สินโดยรวมของกิจการเพิ่มขึ้น โดยที่ผลจากการทำธุรกรรม ดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นในงบดุลของกิจการ (วรศักดิ์ ทุมมานนท์ 2543 : 20-21) ซึ่งธุรกรรมที่กระทำขึ้นนั้นมีเจตนาที่จะ ปกปิดภาระหนี้สิน และข้อผูกพันที่มีอยู่ในปัจจุบันของกิจการ ภาระหนี้สินอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการจัดหาเงินกู้ จากบุคคลภายนอก โดยหลีกเลี่ยงมิให้ รายการเหล่านั้นปรากฏรวม กับยอดหนี้สิน ในงบดุลของกิจการได้ กล่าวคือ กิจการจะซ่อนหนี้สิน ของตนออกจากรายงานทางการเงิน โดยการปกปิดรายการนั้นไว้ หรือ ทำการหลบซ่อนบัญชี ทั้งหนี้สินที่เกิดขึ้นจริง และ หนี้สินที่ อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้า (Schilit, Howard Mark 1985 : 156)
หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ ภาระผูกพันดังกล่าวเป็นผลของรายการค้าที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งการชำระภาระผูกพันนั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่า กิจการ จะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต (สมาคม นักบัญชีและผู้สอบรับบัญชีอนุญาตแห่งประเทศไทย. แม่บท การบัญชี)
ประเภทของรายการค้านอกงบดุล หรือธุรกรรมนอกงบดุล
(Schilit, Howard Mark. Financial Shenanigans: How to detect accounting gimmicks and fraud in financial reports NY : McGraw-Hill, 1985) วิธีการหลบซ่อนหนี้สินออกจากรายงานทางการเงินที่มักจะเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้
- การรายงานรายได้ให้สูงกว่าความเป็นจริง
- การไม่บันทึกหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ หนี้สิน ที่อาจจะเกิดขึ้น
- การไม่เปิดเผยภาระผูกพันที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือ ภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- การสร้างรายการเพื่อล้างหนี้สินออกจากบัญชี
วิธีการหลบซ่อนหนี้สินออกจากรายงานการเงินทั้ง 4 วิธีดังกล่าว เป็นการทำธุรกรรมนอกงบดุลซึ่งถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ วิธีการที่ใช้ในการทำทุจริตในงบการเงิน (Fraudulent Financial Report) กล่าวคือ วิธีการที่ใช้ในการทำทุจริตในงบการเงิน ประกอบด้วย
- การบันทึกสินทรัพย์และรายได้สูงเกินจริงโดย
- รับรู้รายได้ไม่ถูกต้อง
- กำหนดมูลค่าสินทรัพย์ไม่ถูกต้อง
- การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่จริง ไม่เพียงพอ และไม่ครบถ้วนโดย
- การเปิดเผยรายการระหว่างกันที่ไม่เพียงพอ
- การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ไม่ครบถ้วน หรือ ไม่เหมาะสม
- การบันทึกหนี้สิน และค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริงโดย
- การเลื่อนการรับรู้ค่าใช้จ่าย และ รายได้ที่เหมาะสม
- การคิดค่าเสื่อมราคา ค่าตัดบัญชี ค่าเสื่อมสิ้น และ การตัดบัญชีที่ไม่เหมาะสม
บทความโดย: https://th.jobsdb.com