Tax Point จุดรับผิดทางภาษี
TAX POINT จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ ต้องทำอยู่ 3 อย่างคือ
- ต้องออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายหรือการให้บริการ
- ต้องจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30
แต่เรามักจะพบว่า แล้วเราควรจะออกใบกำกับภาษีเมื่อใด เพราะกิจการแต่ละประเภทธุรกิจ มีความแตกต่างกันในลักษณะขั้นตอนการดำเนินงาน จุดความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ก็แตกต่างกันไปด้วย พอจะจำแนกแนววิธีปฏิบัติของความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 4 แนวทาง คือ
1.ธุรกิจขายสินค้า
1.1การขายสินค้าทั่วไป
จุดความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า แต่หากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้า ก็ให้จุดความรับผิดเกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. การโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้รับชำระค่าสินค้า
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.2 การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ / สัญญาซื้อขายผ่อนชำระ โดยที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปให้ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าไปแล้ว จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ให้เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดในแต่ละงวด แม้ยังไม่ได้รับเงินค่างวด ยกเว้นหากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าจุดความรับผิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. ได้รับชำระราคาสินค้า
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.3 การขายสินค้า โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าและได้ส่งมอบสินค้าให้กับตัวแทนแล้วนั้น โดยที่ตัวแทนขายนั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งเพื่อขาย ตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่รัฐมนตรีกำหนด จุดความรับผิดทางภาษี(Tax Point)จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อตัวแทนขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. ตัวแทนโอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
ข. ตัวแทนได้รับชำระค่าสินค้า
ค. ตัวแทนได้นำสินค้าไปใช้ โดยตัวแทนเองหรือคนอื่น
ง. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.4 การขายสินค้าโดยการส่งออก
ก. การส่งออกสินค้า ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
– มีการชำระอากรขาออก
– มีการวางหลักประกันอากรขาออก
– จัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก
ข. การส่งออกสินค้า ในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ วันที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ค. การส่งออกสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของศุลกากร ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น พร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายของกรมศุลกากร
1.5 การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าว อันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
- ธุรกิจให้บริการ
2.1 การให้บริการทั่วไป
จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการนั้น ๆ เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)นั้นเกิดขึ้นทันที ที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. ได้ใช้บริการนั้น ๆ ด้วยตนเองหรือโดยคนอื่น
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
2.2 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของการบริการนั้น ๆ จุดความรับผิด(Tax Point)ตามส่วนของบริการนั้น ๆ เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระค่าบริการตามส่วนของบริการนั้น ๆ เมื่อการให้บริการนั้น ๆ ตามส่วนเสร็จสิ้นลง เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. ได้ใช้บริการโดยตนเองหรือ คนอื่น
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
2.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศไทยจุดความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดหรือบางส่วน เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี
2.4 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ทั้งนี้ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิ์ในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
2.5 การขายสินค้าหรือการให้บริการได้รับชำระด้วยเช็ค
ในกรณีนี้ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น ตามวันที่ที่ปรากฏในเช็ค ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษี และใบรับตามวันที่ในเช็ค
แต่หากได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ก็ให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับลงวันที่ตามวันที่ในเช็คนั้น ๆ ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ ให้จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ได้รับมอบเช็คเท่านั้น
ก. กรณีรัฐบาล,องค์การของรัฐบาล,เทศบาล,สุขาภิบาล,อบต.,อบจ.
ข. กรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา,บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่า ได้ส่งมอบเช็คในวัน เดือน ปี ใดและได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าว ให้ในวันเดียวกันที่ส่งมอบเช็คนั้น และให้ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบทันที
- การนำเข้าสินค้า
3.1 การนำเข้าสินค้าโดยทั่วไป ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
– มีการชำระอากรขาเข้า
– วางหลักประกันอากรขาเข้า
– มีการจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า
เว้นแต่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าของกรมศุลกากร
3.2 การนำเข้าสินค้าในราชอาณาจักร เข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วนำสินค้าดังกล่าว ออกจากเขตฯ โดยมิใช่เพื่อการส่งออก ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่ได้มีการนำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรม
3.3 การนำเข้า กรณีของตกค้างในกรมศุลกากร ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อทางราชการ ได้นำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย ฯลฯ
3.4 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรของกรมศุลกากร ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากภายหลังสินค้าดังกล่าว ต้องเสียอากรของกรมศุลกากรผู้รับโอนสินค้าดังกล่าว ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้รับผิดพร้อม ๆ กับความรับผิด(Tax Point)ของกรมศุลกากร
4.การขายสินค้าหรือให้บริการอื่น
4.1 การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิ์ในสิทธิบัตร,กู๊ดวิลส์,การขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือสินค้าที่ไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้า เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.2 การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ชำระค่าสินค้าหรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการได้รับชำระราคาค่าสินค้า ก็ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษี
4.3 การขายสินค้าหรือการให้บริการ ด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยการหยอดเหรียญ, หรือบัตรหรือการกระทำในลักษณะดังกล่าว ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ
4.4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. มีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.5 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้รับชำระราคาค่าสินค้า
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.6 เมื่อผู้ประกอบการได้นำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือผู้อื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง (ใช้ส่วนตัว) ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้มีการนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบให้คนอื่นไปใช้
4.7 ในกรณีสินค้าขาดหายจากรายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อตรวจพบ
4.8 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือ หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78
4.9 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่มีคำสั่งถอนทะเบียนมูลค่าเพิ่มหรือ ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนหรือได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78
บทความโดย : MichaelShaw