10 ข้อผิดพลาดที่ Startup ชอบทำ
เมื่อพูดถึงการเติบโตของธุรกิจ Startup ในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จนั้นกลับมีเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ 90% ต้องพบเจอกับความล้มเหลว โดยสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจ Startup ล้มเหลวนั้นอาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้
- สร้างธุรกิจที่ไม่ใช่ความต้องการของตลาด
ธุรกิจ Startup หลายราย ถูกสร้างขึ้นจากปัญหาหรือความต้องการของตนเอง ซึ่งบางปัญหาอาจแก้ไขไม่ถูกทาง หรืออาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องการ โดยเราจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง
- ขาดการวางแผน
การวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ จะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายขององค์กร และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด อันนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนสิ่งไม่จำเป็น แต่สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบพื้นฐานในการเริ่มทำธุรกิจ หากคุณบกพร่องจุดนี้ อาจกลายเป็นจุดอ่อนและเผยออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้การทำงานของคุณไร้ประสิทธิภาพและประสบความล้มเหลวในที่สุด
- มองข้ามความสำคัญของข้อมูล
การทำ Research ข้อมูลจะช่วยทำให้การวางแผนงานสมบูรณ์มากขึ้น เพราะเราสามารถนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลประวัติการดำเนินงานย้อนหลัง ก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ หรือแก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ ในธุรกิจของเราได้ด้วยเช่นกัน
- ใช้เงินทุนมากเกินไป
หลายครั้งที่ Startup ต้องประสบความล้มเหลว เนื่องจากการใช้เงินในการลงทุนมากเกินไป การบริหารเงินไม่เป็นสัดส่วน ไม่แยกออกจากกันให้ชัดเจนระหว่างบัญชีธุรกิจหรือบัญชีส่วนตัว รวมไปถึงการใช้เงินลงทุนไปกับสิ่งใช้สอยที่ไม่จำเป็น ทำให้แทนที่จะมีรายได้เป็นผลกำไรจากเงินทุนเข้ามา กลับต้องสูญเสียเงินทุนไปอย่างสิ้นเปลือง
- มุ่งตามหานายทุน แต่ไม่มุ่งลูกค้า
เนื่องจาก Startup มักมุ่งเน้นทางการหาเงินอัดฉีดจาก VC ทำให้หลายคนเริ่มหายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการเตรียม Pitching เพื่อให้ได้รับเงินทุนอัดฉีดเพิ่มขึ้น ซึ่งเราอาจลืมไปว่ารายได้จริงๆ ของธุรกิจมาจากลูกค้าไม่ใช่นายทุน โดยเราสามารถมองหาทั้งนายทุนและลูกค้าได้ไปพร้อม ๆ กัน
- เข้าใจว่าเงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
จริงอยู่ว่า “เงิน” สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่เงินจะสามารถแก้ไขได้ Startup หลายรายที่มุ่งเน้นไปด้านการหาเงินเพียงอย่างเดียว เพราะเข้าใจว่า เมื่อมีเงินแล้วจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่จงอย่าลืมว่า “การบริหาร” สำคัญพอ ๆ กับ “เงิน” ในการทำธุรกิจ เช่นนั้น หากพบปัญหาติดขัดส่วนใด เราจะต้องบริหารงานและเงิน ควบคู่กันไป
- ไม่สนใจเรื่องการตลาด
“การตลาด” เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน การทำการตลาดจะช่วยสร้างโอกาสให้กับ Startup ได้มากกว่า ทั้งในด้านของภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ แม้ว่าธุรกิจจะสร้างจากไอเดียความคิดที่ดี แต่ละเลยการทำการตลาด ก็ส่งผลเสียให้กับธุรกิจได้อยู่ไม่น้อยเลย
- เพิกเฉยต่อกิจกรรมในโซเชียลมีเดีย
อยู่ในยุคแห่งโซเชียล ก็ต้องเล่นโซเชียล หากเราเพิกเฉยต่อการเล่นโซเชียล นอกจากจะตกข่าวสารแล้ว ยังทำให้เราตามไม่ทันเทรนด์หรือกระแสของโลกอีกด้วย ยิ่งแล้วกับการทำธุรกิจ จำเป็นต้องใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, YouTube หรือ Website ต่าง ๆ ในการช่วยกระจายข่าวสารและชื่อเสียงของธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้าใจและความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์และองค์กร รวมไปถึงการสร้างรายได้จากยอดขายด้วย
- อยากสร้างของที่ดีเกินไป
นักธุรกิจหลายคนมุ่งเน้นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้ออกมาดีตามแบบฉบับของตน แต่บางครั้งอาจใช้เวลาพัฒนาเป็นเวลานาน และยังไม่สามารถออกผลผลิตมาเป็นรูปร่างจริง ๆ ได้ อาจทำให้เราเสียโอกาสในการส่งผลผลิตออกสู่ตลาดได้ เช่น มีคนทำตัดหน้าไป หรือหมดเงินทุนไปกับการพัฒนา เพราะไม่มีกำไรมาชดเชยส่วนที่เสียไป
- จ้างพนักงานที่ขาดศักยภาพเข้ามาทำงาน
การจ้างคนทำงานไม่ใช่ใครก็สามารถทำงานได้ สำหรับบางคนอาจเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีศักยภาพหรือความรู้ในการทำงานประเภทนั้น ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจได้มากกว่าผลดี แต่หากจ้างคนทำงานได้ตรงกับสายงาน มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น
Cr. https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/101674