เงินเดือนถูกบริษัทหักภาษีไว้เท่าไร คิดอย่างไรมาดูกัน
เงินเดือนจะถูกบริษัทหักภาษีไว้
ความจริงข้อหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนทราบดีจากความจริงที่ปรากฎอยู่บนสลิปเงินเดือนก็คือเงินเดือนที่จ่ายกับเงินเดือนสุทธิที่ได้รับนั้นไม่เท่ากัน เพราะเงินเดือนที่จ่ายนั้นจะถูกหักสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือการหักภาษี ณ ที่จ่าย และบางคนอาจมีหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท จากนั้นจึงจะเหลือเป็นเงินเดือนสุทธิที่โอนเข้าบัญชีเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน
ทำไมบริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือนเอาไว้
ตามมาตรา 50 แห่งกฎหมายประมวลรัษฎากรกำหนดให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน
บริษัทคำนวณภาษีที่หักไว้อย่างไร
สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ 40(2) แต่ละงวดจ่าย ถ้าเป็นรายเดือนก็เท่ากับเงินเดือนแต่ละงวด ให้นำเงินได้พึงประเมินรายงวดนี้คูณด้วยจำนวนงวดที่จะต้องจ่ายตลอดทั้งปีภาษี ถ้าเป็นเงินเดือนก็คูณ 12 (1 ปีภาษีจ่ายเงินเดือน 12 ครั้ง) จะได้จำนวนเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่จ่ายออกไปตลอดปีภาษี
จากนั้นให้นำเงินได้พึงประเมินตลอดทั้งปีนี้ไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีตามเกษณฑ์ในมาตรา 48 จะได้จำนวนภาษีที่จะต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายทั้งปี แล้วหารกลับด้วยจำนวนงวดที่ต้องจ่ายทั้งปีอีกครั้ง ก็จะได้จำนวนเงินภาษีที่บริษัทจะต้องหักเอาไว้ ณ ที่จ่ายในแต่ละงวด
ในกรณีที่ที่หารภาษีทั้งหมดที่ต้องหักไว้ด้วยจำนวนงวดแล้วเหลือเศษ ให้นำเศษนั้นไปรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหัก ณ ที่จ่ายในงวดสุดท้ายของปีภาษี ซึ่งเมื่อรวมจำนวนเงินภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในแต่ละงวดเข้าด้วยกันก็จะเท่ากับจำนวนเงินภาษีทั้งหมดที่ต้องหักไว้ซึ่งคำนวณได้ก่อนหน้า
ตัวอย่าง การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งบริษัทหักไว้
หากพนักงานมีเงินเดือน 30,000 บาท เงินเดือนแต่ละงวดจะถูกหักภาษีไว้แต่ละงวดเท่าไร และเหลือเงินเดือนสุทธิเท่าไร
เงินได้พึงประเมิน
เงินได้พึงประเมินรายงวด = 30,000 บาท
เงินได้พึงประเมินของพนักงานตลอดทั้งปี (จ่าย 12 งวดทุกเดือน) = 30,000 x 12 = 360,000 บาท
รายการหักเบื้องต้น
หัก ค่าใช้จ่าย 50% (ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว = 60,000 บาท
หัก เข้ากองทุนประกันสังคม = 750 x 12 = 9,000 บาท
เงินได้พึงประเมินสุทธิ
เงินได้พึงประเมินสุทธิที่ต้องนำไปคำนวณภาษี = 360,000 – (100,000 + 60,000 + 9,000) = 191,000 บาท
คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้
หลังจากที่ได้ เงินได้พึงประเมินสุทธิที่่จะต้องนำไปคำนวณภาษีแล้ว จะต้องนำไปคำนวณตามอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
เงินได้สุทธิ | เงินได้สุทธิ | ฐานภาษี | จำนวนภาษีสูงสุด |
0-150,000 | ยกเว้นภาษี | 150,000 | 0 |
150,001-300,000 | 5% | 150,000 | 7,500 |
300,001-500,000 | 10% | 200,000 | 20,000 |
500,001-750,000 | 15% | 250,000 | 37,500 |
750,001-1,000,000 | 20% | 250,000 | 50,000 |
1,000,001-2,000,000 | 25% | 1,000,000 | 250,000 |
2,000,001-5,000,000 | 30% | 3,000,000 | 900,000 |
เกิน 5,000,000 ขึ้นไป | 35% | – | – |
150,000 บาทแรกยกเว้นภาษี
ส่วนที่เกินมา (191,000 – 150,000) = 41,000 บาท เสียภาษี 5% = 2,050 บาท
เงินได้พึงประเมินสุทธิทั้งปี 191,000 บาท ต้องเสียภาษีทั้งปี 2,050 บาท
จำนวนเงินที่บริษัทต้องหักไว้ ณ ที่จ่าย
จำนวนเงินที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายทั้งปี 2,050 บาท
จำนวนเงินที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน (งวด) = 2,050 ÷ 12 = 170.8 บาท
เงินเดือนสุทธิ
ดังนั้น ในแต่ละเดือนพนักงานจะเหลือ
เงินเดือนสุทธิ = เงินเดือน – กองทุนประกันสังคม – ภาษีหักไว้ ณ ที่จ่าย
เงินเดือนสุทธิ = 30,000 – 750 – 170 = 29,080 บาท
บริษัทหักภาษีไว้มากเกินไปทำอย่างไร
เมื่อยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) แล้วบางคนได้คืนภาษีจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งนั้นมาจากการที่บริษัทหักเงินภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้มากเกินไป จากการที่บริษัทไม่ทราบว่าพนักงานมีรายการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น คู่สมรส บุตร ค่าอุปการะคนพิการ เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิต กองทุนต่าง ๆ ดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ
ทำให้เงินได้พึงประเมินของพนักงานที่บริษัทนำไปคำนวณภาษีที่ต้องหักไว้มีสูง และหักภาษีแก่พนักงานเอาไว้มาก แต่พนักงานก็สามารถแจ้งข้อมูลการลดหย่อนต่าง ๆ ที่พนักงานมีอยู่แก่บริษัทได้โดยการกรอกแบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน (ล.ย.01)
ทำไมต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่มจำนวนมาก
กรณีนี้ตรงข้ามกับประเด็นก่อนหน้าคือบริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้น้อยเกินไป ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ย้ายงานในช่วงปีภาษี โดยที่ทำงานแห่งที่ 2 จะประเมินเงินได้พึงประเมินของทั้งปีโดยคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือในปีภาษี ทำให้จำนวนเงินได้นั้นถูกนำไปคิดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเลยก็ได้
ทำให้สุดท้ายแล้วบริษัทหักภาษีไว้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อสิ้นปีภาษีแล้วนำเงินได้จากที่ทำงานทั้ง 2 แห่งมารวมกันจึงพบว่ามีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มจำนวนมาก
หากมีข้อสงสัยเรื่องภาษีสอบถามได้ที่คอลเซ็นเตอร์กรมสรรพากร 1161
อ้างอิง : เงินเดือนถูกบริษัทหักภาษีไว้เท่าไร คิดอย่างไรมาดูกัน| DDproperty.com