เคล็ดลับ ยื่นภาษีหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่าย
ทุกต้นปี สิ่งที่คนทำงานทุกคนต้องหาข้อมูลคือ รายละเอียดวิธีการยื่นภาษี การหักลดหย่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็ต้องศึกษาเรื่องการยื่นภาษีกันทั้งนั้น เพื่อเตรียมพร้อมกับการวางแผนยื่นภาษีอย่างสบายใจ เรามาดูเรื่องหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่มักพลาดกัน หรืออาจเผลอเรอด้วยความไม่รู้หรือไม่รอบคอบ เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง ก็คือ เรื่องหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่าย
อะไรคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย?
ตลอดปีภาษีที่ผ่านมา เราจะมีการเก็บเอกสารที่เรียกว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “50 ทวิ” ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเอกสารที่แจ้งข้อมูลรายได้ว่าได้มาจากที่ใด จำนวนเท่าไหร่ และมีการหักภาษีไว้แล้วเท่าไหร่ เราจะได้รับเอกสารนี้เมื่อเรามีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่านายหน้าหรือเงินปันผล
สังเกตได้ว่า เวลาที่เราได้รับเงินเดือนมาเรามักจะได้รับจำนวนเงินที่เป็นเศษๆ หรือไม่ได้เป็นตัวเลขกลมๆ ครบตามอัตราเงินเดือนจริงของเรา ทั้งนี้เป็นเพราะเราโดนหักเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี่เอง ซึ่งอยากให้เข้าใจกันทุกคนว่าเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายนี้ จะคำนวณมาจากเงินภาษีที่เราจะต้องจ่ายตลอดทั้งปี และเมื่อเราถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีที่เราจะต้องเสียจริงตอนสิ้นปี เราก็จะสามารถเอามารวมยื่นภาษีสิ้นปี แล้วขอรับเงินคืนภาษีได้
การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ได้แปลว่าเราจ่ายภาษีทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว
แต่การหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นการจ่ายภาษีบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทางกฎหมายได้กำหนดไว้เพื่อลดภาระหรือลดจำนวนภาษีที่เราต้องเสียตอนสิ้นปี ดังนั้น ทุกครั้งที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เราจะต้องขอเอกสารหนังสือ 50 ทวิหรือหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ด้วย แต่ในบางกรณี ผู้จ่ายเงินอาจให้เอกสารหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้เป็นแบบรายปีก็ได้ คือรอจ่ายและหักภาษีทุกงวดครบก่อน แล้วออกเอกสารให้ครั้งเดียวตอนสิ้นปีก็ได้
หากใครทำอาชีพฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระต่าง ๆ ก็ต้องอย่าลืมที่จะขอเอกสารหักภาษีนี้จากนายจ้างทันทีด้วย มิฉะนั้นเมื่อถึงสิ้นปี อาจจะยุ่งยากต้องไปตามขอหรืออาจไม่สามารถจะขอได้อีก
Final Tax (ภาษีสุดท้ายหรือภาษีแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด)
เคล็ดลับในการเสียภาษีเงินได้สิ้นปี คือ จะมีรายได้บางอย่างที่เมื่อถูกหักภาษีแล้ว สามารถจบการเสียภาษีของรายได้นั้นๆ ได้เลยไม่ต้องนำรายได้นี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเพิ่มอีก ซึ่งเราเรียกว่าเป็นภาษีสุดท้ายหรือ Final Tax ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่มเงินได้ คือ
- เงินปันผล (หรือส่วนแบ่งกำไร)
- ดอกเบี้ย (เงินฝาก, พันธบัตร, หุ้นกู้, ฯลฯ)
- ผลต่างหรือส่วนลดระหว่างราคาไถ่ถอนของตราสารหนี้
- กำไรจากการขายตราสารหนี้, หุ้นกู้, ตั๋วเงิน
- รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มุ่งกำไร, เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเหตุออกจากงาน, เงินจากการให้โดยเสน่หาหรือหน้าที่ธรรมจรรยา
กรณีที่ 1 เรามีรายได้มาก
หากเรามีรายได้อื่นๆ ค่อนข้างมาก ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูง และยังมีเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่ถูกหักภาษีไว้แล้ว เราไม่ควรนำเงินปันผลหรือดอกเบี้ยนั้นๆ มารวมคำนวณสิ้นปี เราสามารถทำให้เงินปันผลกับดอกเบี้ยนั้นเป็นรายได้ที่เสียภาษีแบบ final tax ไปเลย คือไม่ต้องเอาเอกสารใบหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินปันผลและดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณตอนยื่นภาษีสิ้นปี
กรณีที่ 2 เรามีรายได้น้อย
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ารายได้อื่นๆ ของเราน้อย และฐานภาษีหรืออัตราภาษีต่ำ เราควรนำเงินที่ถูกหักภาษีจากรายได้เงินปันผลและดอกเบี้ยมารวมคำนวณด้วย เพื่อที่เราจะได้รับเงินภาษีนั้นคืนมาทั้งหมดหรือคืนมาบางส่วน โดยมีเงื่อนไขว่าเราจะต้องตามเอกสารหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นของค่าดอกเบี้ยและเงินปันผลมาให้ครบทุกรายการหรือทุกบัญชีธนาคารกันเลยทีเดียว เราถึงจะสามารถรวมเอกสารเพื่อคำนวณขอเงินภาษีคืนได้
และเมื่อได้เอกสาร 50 ทวิ นี้มาจนครบถ้วนแล้ว จะต้องกรอกแบบฟอร์มการเสียภาษีให้ถูกต้อง แล้วนำไปยื่นภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นก็ยังต้องเก็บรักษาเอกสารนี้ไว้ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานหากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเรียกตรวจจะได้มีเอกสารไปยืนยังว่ารายการต่างๆ ที่เราหักภาษีไว้นั้น มีเอกสารถูกต้องครบถ้วน