วิธีใช้ ‘ช้อปดีมีคืน’ เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ โค้งสุดท้าย
เปิดวิธีใช้สิทธิ์ “ลดหย่อนภาษี” ปี 2563 โค้งสุดท้าย ผ่านโครงการ “ช้อปดีมีคืน”
เหลืออีกไม่กี่วัน จะถึงสิ้นปี 31 ธ.ค. 63 ซึ่งเป็นวันหมดเขต “ช้อปดีมีคืน” สำหรับ “ลดหย่อนภาษี” สำหรับการ “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ในปีภาษี 2563 ที่จะต้องยื่นภาษีช่วง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 64
ก่อนจะออกไปช้อปในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมาดูหลักเกณฑ์ชัดๆ อีกทีว่า ใครสามารถใช้สิทธิในมาตรการ ช้อปดีมีคืนได้บ้าง แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข
มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบ VAT โดยเป็นการซื้อสินค้าที่เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2563
- ‘ช้อปดีมีคืน’ ทำยังไงถึงได้ ‘ลดหย่อนภาษี’ เต็มสูบ
- ‘คนละครึ่ง’ กับ ‘ช้อปดีมีคืน’ แบบไหนดี? เคลียร์ชัด เทียบกันหมัดต่อหมัด
- สรุป 7 ข้อ ‘ช้อปดีมีคืน’ เบื้องต้น ซื้ออะไรได้ ‘ลดหย่อนภาษี’
- เทคนิคเลือกซื้อ ‘ประกัน’ เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ ให้คุ้ม ทั้งดูแลชีวิตและประหยัดภาษี
- เงื่อนไข “ช้อปดีมีคืน” ที่ต้องรู้ก่อนช้อป
โดยมาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63 ที่จะต้อง “ยื่นภาษี” ในช่วง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 64
แต่จะต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษี VAT เท่านั้น และสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
โดยสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ผู้เสียภาษีแต่ละคนจะได้รับสิทธิ “ลดหย่อนภาษี” จากการ “ช้อปดีมีคืน” ไม่เท่ากัน
และการขอลดหย่อนภาษีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการนำบิลค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขของโครงการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้เสียภาษีแต่ละคนจะได้รับสิทธิ ลดหย่อนภาษี มากหรือน้อย หรือไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ซื้อ และคิดอัตราภาษีคืนตามระดับ เงินสุทธิ ในแต่ละปี ตามตารางต่อไปนี้
อัตราคืนภาษี ช้อปดีมีคืน 2563 | ||
รายได้สุทธิต่อปี | ฐานภาษีเงินได้ฯ | เงินภาษีคืนสูงสุด |
0-150,000 บาท | ยกเว้นภาษี | 0 บาท |
150,001-300,000 บาท | 5% | 1,500 บาท |
300,001-500,000 บาท | 10% | 3,000 บาท |
500,001-750,000 บาท | 15% | 4,500 บาท |
750,001-1,000,000 บาท | 20% | 6,000 บาท |
1,000,001-2,000,000 บาท | 25% | 7,500 บาท |
2,000,001-5,000,000 บาท | 30% | 9,000 บาท |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | 10,500 บาท |
- “ช้อปดีมีคืน” ต้องซื้ออะไร ถึงจะได้ลดหย่อนภาษี?
1) สินค้าและบริการที่ “เข้าร่วม” มาตรการ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ได้แก่
- สินค้าและบริการทั่วไป
- สินค้า OTOP
- หนังสือ ทั้งแบบเล่ม และอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)
2) สินค้าและบริการที่ “ไม่เข้าร่วม” มาตรการได้แก่
- เหล้าเบียร์ ไวน์
- บุหรี่หรือยาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซที่ใช้เติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์มอเตอร์ไซค์ เรือ
- ซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งรูปเล่มและอิเล็กทรอนิกส์
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว
- ค่าที่พักโรงแรม
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” จะต้องไม่ใช้สิทธิโครงการ “คนละครึ่ง”
นอกจากนี้สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ การ “ขอเอกสาร” เพื่อใช้ในการขอลดหย่อนภาษี หมายความว่าต้องซื้อสินค้าจากร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบจากการซื้อสินค้านั้นๆ เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นลดหย่อนภาษี
โดยเอกสารที่ต้องใช้สำหรับลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” ได้แก่
- ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย
- ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book)ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูล ของผู้เสียภาษี รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินให้ครบถ้วนด้วย
- ซื้อสินค้า OTOP ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน(ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & eReceipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย
- ลักษณะใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และใบเสร็จรับเงิน ที่ใช้งานได้
สำหรับ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ”
- ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด
- ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
สำหรับ “ใบเสร็จรับเงิน”
ใบเสร็จรับเงิน (ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่จดทะเบียน VAT) ต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
- เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จํานวนเงิน
อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/913172