วางแผนภาษีทั้งทีต้องรู้อะไรบ้าง
สำหรับคนที่ทำงานอย่างเราๆ เมื่อมีรายได้นั้น ก็ต้องเจอกับสิ่งที่เรียกว่า ภาษี เป็นของคู่กัน แล้วทำไมถึงคู่กันหละ ?? หลายๆคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจกับมันมากนัก รู้เพียงแค่ว่า เรานั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีทุกปี ในช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป จนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า คำว่า ภาษี นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆคนปวดหัวอยู่ร่ำไป บางคนอาจบอกว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ง่ายๆ เพราะมีฝ่ายบุคคลของบริษัทคำนวณภาษีแบบเบ็ดเสร็จมาให้เรียบร้อย ที่บริษัทไหนๆก็ทำให้กันทั้งนั้น จะว่าไปวิธีลัดแบบนี้มันก็ค่อนข้างสะดวก แต่อย่าลืมว่า ฝ่ายบุคคลไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของคุณว่า คุณสามารถลดหย่อนภาษีด้วยอะไรบ้าง มีลูกกี่คน หรือ ทำบุญบริจาคไปเท่าไหร่บ้าง ซึ่งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่สามีภรรยา ก็คงไม่มีใครมาจดจำและจัดการให้คุณแน่นอน และ เชื่อมั้ยว่า การที่เราใช้ความสะดวกของฝ่ายบุคคลที่อำนวยให้นั้นอาจทำให้เราเสียภาษีเกินกว่าความเป็นจริงด้วยนะ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากเสียภาษีเกิน เราก็ควรจะต้องลุกขึ้นมาจัดการทุกอย่างในเรื่องนี้ด้วยตัวเองดีกว่า ด้วยการวางแผนภาษี
“ การวางแผนภาษี ” คือ การเตรียมตัวเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆที่กฎหมายกําหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจําปีเพื่อทำให้เสียภาษีให้น้อยลง ยิ่งถ้าเราวางแผนภาษีได้เป็นอย่างดีก็อาจได้เงินคืนภาษีจํานวนไม่น้อย ซึ่งเราสามารถนําไปต่อยอดให้เงินก้อนนี้งอกเงยมากยิ่งขึ้น
การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทําความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสียและรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษีคือ
1. รู้จักประเภทของรายได้ เนื่องจากการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพ หรือ ช่องทางในการหารายได้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ใช้ต้นทุนรวมถึงความยากง่ายแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องการคำนวณภาษี ทำให้กรมสรรพากรได้แบ่งประเภทของเงินได้พึงประเมิน ออกเป็น 8 ประเภทด้วยกันดังนี้
ประเภทที่ 1 – เงินเดือน
ประเภทที่ 2 – การจ้างทำงาน
ประเภทที่ 3 – ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
ประเภทที่ 4 – เงินได้ที่ได้จากการดอกเบี้ย เงินปันผล และ Cryptocurrency.
ประเภทที่ 5 – ค่าเช่า
ประเภทที่ 6 – ค่าวิชาชีพอิสระ
ประเภทที่ 7 – ค่ารับจ้างเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
ประเภทที่ 8 – เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าประเภทที่ 1-7.
2. รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ของแต่ละประเภทของเงินได้ เพราะรายได้แต่ละประเภทสามารถนั้นหัก“ค่าใช้จ่าย”ได้ไม่เท่ากัน หากเรารู้ว่า รายได้ของเราอยู่ประเภทไหน เราก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง เช่น หากเราเป็นแพทย์ รายได้ของเราจะถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 6 – ค่าวิชาชีพอิสระ ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดถึง 60 % เลยทีเดียว
3. รู้จักค่าลดหย่อน ซึ่งเป็นรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เราสามารถนำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นไม่ว่า จะเป็น การลงทุนใน กองทุน SSF กองทุน RMF เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกัน ที่เราสามารถจัดการซื้อได้ในระหว่างปี รวมถึง ค่าลดหย่อนที่เป็นภาระติดตัว เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท ก็ทำให้เงินได้สุทธิเราลดลงเช่นกัน ในส่วนนี้หากเรายิ่งวางแผนค่าลดหย่อนได้เยอะ เราก็จะยิ่งเสียภาษีน้อยลง
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า การวางแผนภาษีนั้น ก็คือ การใช้ค่าจ่ายและค่าลดหย่อนที่ถูกต้องตามกฏหมายและหลักของกรมสรรพากร เพื่อทำให้เงินได้สุทธิก่อนที่จะนำไปคิดภาษีแบบขั้นบันไดนั้นลดลง พูดอีกนัยนึงก็คือ หากเรามีการวางแผนภาษีที่ดีและเหมาะสม เราก็สามารถขอคืนภาษีที่บริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ส่งให้ทางกรมสรรพากรก่อนหน้าได้ หรือ อาจทำให้เราเสียภาษีน้อยลงเมื่อเทียบกับการที่ไม่ได้วางแผนภาษีเลย และที่สำคัญอย่าลืมว่า ผลประโยชน์ทางด้านภาษีที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้จากการวางแผนภาษีเท่านั้น ควรคำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆในชีวิตควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นหากเราโฟกัสกับการลดหย่อนภาษีมากเกินไป อาจทำให้การเงินของเราขาดนั้นสภาพคล่องและมีผลกระทบกับแผนการเงินในด้านอื่นๆอีกด้วย
อ้างอิง : https://friendnancial.com/blogs/what-do-you-need-to-know-about-tax-planning