ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการโอนสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน
เลขที่หนังสือ
กค 0702/4656
วันที่
5 สิงหาคม 2551
ข้อกฎหมาย
พรบ.ปิโตรเลียม และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้
71/36070
ข้อหารือ
บริษัทฯ มีรายได้จากการโอนสัมปทานปิโตรเลียมซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
1. บริษัทฯ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้ามาประกอบกิจการ ในประเทศไทย โดยได้รับสัมปทานปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
2. ในปี 2546 บริษัทฯ ได้โอนสัมปทานแปลงสำรวจพื้นที่ B9A ตามมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (บริษัทผู้รับโอน) โดยมีข้อกำหนดว่า บริษัทผู้รับโอนจะต้องจ่ายค่าตอบแทนจากการโอนสัมปทานตามอัตราร้อยละของการผลิต ปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวในอนาคต (Overriding Royalty)
3. ในปัจจุบัน สัมปทานทั้งหมดที่บริษัทฯ ถืออยู่ ยังไม่มีการผลิต บริษัทฯ จึงยังไม่มี รายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรอบระยะเวลาบัญชีแรกตามมาตรา 26(1) แห่ง พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จึงยังไม่เริ่มขึ้น
4. บริษัทฯ ได้หารือว่า บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษี มูลค่าเพิ่ม จากค่าตอบแทนการโอนสัมปทานดังกล่าว อย่างไร
แนววินิจฉัย
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
เนื่องจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าว บริษัทผู้รับโอนตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทน การโอนตามอัตราร้อยละของการผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นจากแปลงดังกล่าวในอนาคต (Overriding Royalty) ซึ่งไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของเงินได้หลังจากหักมูลค่าต้นทุนตาม มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยบริษัทผู้รับโอน มี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ณ ที่จ่าย ทุกคราวที่จ่ายเงินได้นั้น และต้องยื่นแบบ แสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 21 มาตรา 45 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
อนึ่ง โดยที่ค่าตอบแทนจากการโอนสัมปทานดังกล่าว ไม่อาจกำหนดจำนวนทั้งสิ้นได้แน่นอน บริษัทฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ และไม่มี หน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากกำไรสุทธิแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตาม มาตรา 22 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากการโอนสัมปทานดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมี หน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนการโอนที่ได้รับ มารวมคำนวณเป็นมูลค่าในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้น เมื่อได้รับชำระค่าตอบแทนนั้น ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และตาม ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
อ้างอิง : https://www.iliketax.com/discussion/view.php?id=3128