ภาษีสุรา
ลักษณะของสินค้า
สุรา หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุราหรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา
ประเภทของสุรา
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สุราแช่ และสุรากลั่น
สุราแช่
สุราแช่ คือ สุราที่ไม่ได้กลั่น และให้หมายความรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรีด้วย
สุราแช่แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. เบียร์
2. ไวน์และสปาร์กกลิ้งไวน์ ที่ทำจากองุ่น
3. ชนิดอื่นๆ เช่น สุราแช่พื้นเมือง (อุ สาโท และน้ำตาลเมา) และสุราแช่อื่น
ส่วน “สุราแช่และผลิตภัณฑ์” หมายถึง สุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง สุราแช่อื่นนอกจากเบียร์ ที่มีมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี และต้องทำการผลิตสุราดังกล่าวในสถานที่ทำสุราซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 ม้า และ/หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน
สุรากลั่น
สุรากลั่น คือ สุราที่ได้กลั่นแล้ว และให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรีด้วย
สุรากลั่นแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. ชนิดสุราสามทับ คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป
2. ชนิดสุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
3. ชนิดอื่นๆ เช่น
o สุราผสม คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
o ชนิดสุราปรุงพิเศษ คือสุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี
o ชนิดสุราพิเศษ คือ สุรากลั่นที่ทำขึ้นโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ก. ประเภทวิสกี้ บรั่นดี รัม ยิน หรือสุราแบบต่างประเทศอย่างอื่น และ ข. ประเภทเกาเหลียง เชี่ยงชุน บุ้นกุ่ยโล่ว หรือสุราแบบจีนอย่างอื่น
ส่วน “สุรากลั่นชุมชน” หมายถึง สุรากลั่นชนิดสุราขาว ทำจากวัตถุดิบจำพวกข้าว หรือแป้ง หรือผลไม้ หรือน้ำผลไม้ หรือผลิตทางการเกษตรอื่นๆ มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 15 ดีกรี แต่ไม่เกิน 40 ดีกรี และต้องทำการผลิตสุราดังกล่าวในสถานที่ทำสุราซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 ม้า และ/หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
1. ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุรา ได้แก่ ผู้ที่ตั้งโรงงานผลิตสุราในประเทศโรงงานสุรากลั่นชุมชนต้องยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างสถานที่ทำสุรากลั่นชุมชนต่อสำนักงานสรรพสามิตในเขตพื้นที่ที่สถานที่ทำสุราตั้งอยู่ โดยกรมสรรพสามิตอนุญาตให้ผลิตสุรากลั่นชนิดสุราขาวเท่านั้น
2. ผู้นำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าสุราจากต่างประเทศ
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ภาษีสุรา
อ้างอิง : http://taxone.excise.go.th/projects/1/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B2