ภาษีทางตรง
ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้
ประเภทของภาษีทางตรง
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป โดยเก็บเป็นรายปี ผู้เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป ซึ่งรายได้ที่นำมาคำนวณภาษี มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน
- เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ
- เงินได้จากค่าสิทธิ
- เงินได้จากการลงทุนในทรัพย์สิน(Capital Gain)
- เงินได้จากการให้เช่า
- เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
- เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
- เงินได้จากการประกอบธุรกิจหรือเงินได้อื่นๆได้นอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของนิติบุคคล ได้แก่ เงินได้ประเภทกำไรสุทธิ ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย หรือ การจำหน่ายเงินกำไรจากประเทศไทย
โดยส่วนใหญ่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาเป็นเวลา 12 เดือนหรือน้อยกว่า 12 เดือนแล้วแต่กรณี สำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดอยู่ที่ 20% ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี
- ภาษีป้าย
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ เครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า ด้วยตัวอักษร ภาพ หรือ เครื่องหมาย
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการครอบครอง เป็นภาษีที่จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้ทันสมัย ลดความซ้ำซ้อนของภาษีโรงเรือนกับภาษีเงินได้ และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน ในวันที่ 1 มกราคมของแต่ละปี
- ภาษีมรดก
เป็นภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกหรือทายาท เมื่อได้รับการโอนทรัพย์สิน
- ภาษีทรัพย์สินต่างๆ
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ครอบครองทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีรถยนต์
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ภาษีทางตรง
อ้างอิง : ภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมคืออะไรต่างกันอย่างไร – (peakaccount.com)