ประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา กับ การยื่นแบบที่ถูกต้อง
ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า คุณมีเงินได้ประเภทใด เพราะทั้งภ.ง.ด. 90 และ 91 ต่างก็เป็นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาเหมือนกัน ซึ่งมีหลายท่านเข้าใจผิดว่า หากมีรายได้ไม่ถึงไม่จำเป็นต้องยื่นแบบฯ เพื่อเสียภาษี ? เรามาดูกันก่อนเลย ว่ามีเงินได้เท่าไหร่ จะต้องยื่นแบบฯ ต่อกรมสรรพากร
กรณีมีเงินเดือนอย่างเดียว :
คนโสด มีเงินได้ตั้งแต่ 120,000 บาท,
สมรส มีเงินได้ตั้งแต่ 220,000 บาท
และหากมีเงินได้ประเภทอื่น
คนโสด มีเงินได้ตั้งแต่ 60,000 บาท
สมรส มีเงินได้ตั้งแต่ 120,000 บาท
ต้องยื่นแบบฯ เพื่อเสียภาษี
ประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มี 8 ประเภท สรุปแบบคร่าวๆ ดังนี้
40 (1) เงินได้เนื่องจากการการจ้างแรงงาน ดังนี้
ก.เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จ
ข.เงินค่าบ้านที่นายจ้างจ่ายให้
ค.เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
ง.เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
จ.เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับจ้างทำงาน หรือผู้รับเหมาเฉพาะค่าแรง
40(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์อื่น ๆ
40 (4) ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือเงินได้อื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
40(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
ก.การให้เช่าทรัพย์สิน
ข.การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
ค.การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงิน หรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ หรือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
40(7)เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ รับเหมาทั้งค่าของและค่าแรง
40(8) เงินได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาฯ เงินได้ของ ดารา นักแสดง รวมถึงเงินได้ที่นอกจาก 40(1)-(7)
แบบ ภ.ง.ด. สำหรับบุคคลธรรมดา จะมีอยู่ 4 แบบ คือ
ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีเงินได้ทุกประเภท
ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ ม. 40 (1) อย่างเดียว หรือเงินได้ของมนุษย์เงินเดือน
ภ.ง.ด. 93 สำหรับการขอชำระภาษีล่วงหน้า
ภ.ง.ด. 94 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ต้องยื่นเงินได้ครึ่งปี กรณีคนโสดมีเงินได้เกิน 60,000 บาท กรณีสมรสมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
สรุปเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น
สำหรับคนที่ทำงานมีเงินได้เป็นเงินเดือน หรือรับเงินค่าจ้างในฐานะลูกจ้างเพียงอย่างเดียวก็จะใช้แบบ ภ.ง.ด. 91
แต่หากเมื่อใดก็ตามที่มีเงินได้ทางอื่นเพิ่ม เช่น เงินปันผลจากกองทุน หรือหุ้น เงินได้จากค่าเช่า กรณีนี้ให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 90 เพราะถือว่ามีเงินได้ประเภทอื่น นอกจากประเภทที่ 1