ประกันชีวิตให้ผลประโยชน์อะไรเราบ้าง ? นอกจากกรณีที่เราเสียชีวิต
ทุกวันนี้ คำว่า ผลประโยชน์จากประกันชีวิต ทำให้หลายๆคนเข้าใจว่า เราจะได้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิตในกรณีที่เราเสียชีวิตเท่านั้น ถ้าถามว่า ถูกมั้ย ?? เป็นคำตอบถูกครับ แต่ถูกแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วนอกจากกรณีที่เราเสียชีวิตแล้ว ก็ยังมีอีกกรณีที่เราจะได้รับผลประโยชน์อยู่ครับ คือ การอยู่ถึงระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำประกันชีวิตนั้นก็คือ การสร้างความคุ้มครองหรือสร้างทุนประกันให้กับครอบครัวและคนที่อยู่ในอุปการะของเรา เมื่อคนๆนั้นจากไปก่อนวัยอันควร ประกันชีวิตในสมัยอดีตจึงเป็น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ซึ่งก็มีความหมายตามชื่อของเค้าเลย ประกันแบบนี้จะมีความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกันภัย ส่วนใหญ่จะอยู่คุ้มครองที่ 99 ปี แล้วสมมติว่า เราไม่เสียชีวิต แต่เรามีชีวิตอยู่ครบสัญญาที่ 99 ปี คนอายุ 99 ปีจะใช้เงินก้อนนี้ไปทำอะไรได้ จริงมั้ยครับ ??? และ เนื่องด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ทำให้คนเรามีอายุยืนขึ้นไปอีก ทำให้ประกันชีวิตชนิดนี้อาจไม่ตอบโจทย์กับปัจจุบันเท่าที่ควร เลยทำให้บริษัทประกันออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอื่นๆ โดยยังคงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำประกันชีวิตไว้อยู่ และ เพิ่มลูกเล่นอื่นเข้าไป จนออกมาเป็น
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นการออมเงิน พร้อมรับความคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน เมื่อเราส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ ประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้เรา โดยมีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือแบบมีเงินคืนระหว่างทางตลอดสัญญาก็ได้ และถ้าเราเสียชีวิตระหว่างที่ส่งกรมธรรม์ คนข้างหลังเราก็จะได้รับเงินก้อนที่เรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกัน” ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ครับ โดยระยะเวลาของสัญญาจะอยู่ที่ 10 ปี – 30 ปี เมื่อเราอยู่ครบสัญญาเราก็จะได้รับเป็นเงินก้อน
ประกันบำนาญ หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็เป็นประกันชีวิตอีกประเภทหนึ่ง โดยเน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง” คล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่จะแตกต่างตรงที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์อาจจะมีผลตอบแทนหรือ “เงินคืน” ทยอยจ่ายคืนมาให้ระหว่างช่วงเวลาที่อยู่ในสัญญาความคุ้มครอง แต่ประกันบำนาญ จะไม่มีเงินคืนให้ระหว่างทาง แต่จะจ่ายคืนให้เป็น “เงินบำนาญ” เหมือนกับเงินบำนาญของข้าราชการ ให้เราเป็นจำนวนเท่าๆกันทุกปี ตั้งแต่เริ่มเกษียณ (ตอนอายุ 55 60 หรือ 65 ปี) ไปจนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี แทน โดยที่เราต้องจ่ายเบี้ยตั้งแต่เริ่มทำประกัน ไปจนถึงปีสุดท้ายก่อนถึงอายุเกษียณ หรืออาจจะจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาที่แบบประกันกำหนด (เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี) แล้วแต่แบบประกันของแต่ละบริษัท
นี่แหละครับ ประกันชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออมเงินที่น่าสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากจะทำให้เรามีวินัยในการเก็บออมเงินมากขึ้น ได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน แถมยังได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษีอีกด้วย ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อนั้น ก็ควรศึกษาว่า ประกันแบบไหนเหมาะกับเราและที่สำคัญต้องเช็คความสามารถในจ่ายค่าเบี้ยประกันของตัวเองด้วยนะครับ เนื่องจากเป็นภาระผูกพันระยะยาว โดยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตนั้นไม่ควรเกิน 10 – 15% ของรายได้ต่อปี และใน 1 คน ก็ไม่ควรมีกรมธรรม์ประกันชีวิตซ้ำซ้อนกันหลายฉบับ อาจทำให้เราจ่ายไม่ไหวได้ในอนาคต
อ้างอิง : https://friendnancial.com/blogs/what-benefits-does-life-insurance-provide-for-us