ทำไมต้องปิดบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม
ตามปกติแล้วภายหลังจากการจัดตั้งนิติบุคคลผู้ประกอบการอันเป็นเจ้าของนิติบุคคลเหล่านั้น มีความจำเป็นต้องจัดทำบัญชี เพื่อนำข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย ตลอดจนกำไรสุทธิ ไปเสียภาษี
โดยกฎหมายกำหนดให้รอบของการเสียภาษี 1 รอบเท่ากับ 12 เดือน นั่นหมายถึงว่า ทุกนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น รอบระยะเวลาบัญชี ก็คือรอบของการจัดทำบัญชีสรุปตัวเลขงบการเงินเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ตามกฎหมายกำหนดให้รอบระยะเวลาบัญชีต้องมี 12 เดือน โดยเราสามารถกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีได้ 2 แบบดังนี้
แบบที่ 1 รอบระยะเวลาบัญชีตามปีปฏิทิน (Calendar Year) หมายถึง การกำหนดให้วันเริ่ม และสิ้นสุดในการจัดทำรายงานทางการเงินเพื่อเสียภาษี เป็นวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมตามปฏิทิน วิธีนี้เป็นที่นิยม และให้ผลดี เพราะเราสามารถนำข้อมูลทางการเงินเปรียบเทียบกับงบที่ปิดในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันเพื่อวัดประสิทธิภาพในการประกอบการได้ง่าย
แบบที่ 2 รอบระยะเวลาบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน (Fiscal Year) คือรอบที่มีการจัดทำรายงานทางการเงินเพื่อเสียภาษีที่ไม่ได้เริ่มจาก มกราคม ถึง ธันวาคมตามปกติ แต่จะเริ่มจากเดือนอื่นที่มิใช้เดือนมกราคม และสิ้นสุดลงท้ายอีก 11 เดือน ถัดไปนับรวมเดือนจัดตั้งเป็น 12 เดือน โดยจะเป็นงบเหลื่อมปีทั้งสิ้น แต่เมื่อนับจำนวนเดือนที่นำมาสรุปยอดเพื่อทำรายงานทางการเงิน นั้นจะมี 12 เดือน เช่น งบการเงินที่เริ่มตั้งแต่ 1 ธันวาคม 25X1 ไปสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 25X2
การจัดทำงบการเงินโดยมีรอบระยะเวลาตามปีปฏิทินนั้น สอดคล้องกับความเข้าใจ และไม่ซับซ้อนเท่ากับ รอบระยะเวลาบัญชีแบบไม่เป็นไปตามปีปฏิทินมาก ทำไมจึงยังมีการจัดทำงบการเงินที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่ไม่เป็นไปตามปีปฏิทินอยู่ คำตอบอาจมีได้หลายรูปแบบดังนี้ครับ
ต้องเข้าใจก่อนว่า ภายหลังจากการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ต้องมีการจัดทำงบการเงิน โดยงบการเงินต้องมีการสอบบัญชี และการสอบบัญชีย่อมที่ค่าสอบบัญชีที่ต้องจ่ายให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทั้งนี้ บางนิติบุคคล มีการจดทะเบียนปลายปี เช่น จด ณ วันที่ 15 เดือนธันวาคม บางนิติบุคคลจดทะเบียนก็วันที่ 27 ธันวาคม ไปแล้ว หากเลือกรอบระยะเวลาบัญชี เป็นรอบตามปีปฏิทิน นั่นหมายถึงว่า อีกไม่กี่วัน ก็จะถึงวันสิ้นปี ก็ต้องปิดงบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งอาจไม่ทันหรือบริษัทยังไม่อยู่ในสถานการณ์ดำเนินการ คือยังไม่มีรายได้ ค่าใช่จ่ายอะไร ทำให้การปิดงบรอบตามปีปฏิทินนั้น อาจเพิ่มรายจ่ายให้บริษัทในเรื่องค่าสอบบัญชี จึงเลือกที่จะจัดทำรอบบัญชีให้ไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน ซึ่งอาจมีผลทำให้ผลประกอบการกิจการมีความชัดเจนขึ้นและการเตรียมทีมงานด้านบัญชีเพื่อปิดงบการเงินมีความพร้อมมากขึ้น ยืดระยะเวลาการจ่ายชำระค่าสอบบัญชีออกไปได้อีกเป็นปี และเป็นทางเลือกที่สามารถกระทำได้อย่างถูกต้องและไม่ขัดต่อกฎหมายใดๆ
หรือบางนิติบุคคลจำเป็นต้องทำรอบระยะเวลาบัญชีให้ตรงกับบริษัทแม่ ซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำงบการเงินรวมอย่างนี้เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกรอบระยะเวลาบัญชีได้เอง กรณีไม่จดข้อบังคับตอนจัดตั้งนิติบุคคลโดยให้ทำการเลือกปิดบัญชีภายใน 12 เดือน นับจากวันก่อตั้ง และหากเลือกรอบบัญชีใดแล้ว ต้องใช้รอบบัญชีนั้นไปตลอด เว้นแต่จะมีการดำเนินเรื่องเปลี่ยนแปลงรอบบัญชีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
บริษัท สัมพันธ์รัก จำกัด จัดตั้ง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 บริษัทฯ ไม่ได้จดข้อบังคับ ซึ่งมีผลให้บริษัทฯ สามารถเลือกรอบบัญชีได้ 2 รูปแบบคือ
(1) รอบบัญชีตามปีปฏิทิน งบปีแรก จะจัดทำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 (วันก่อตั้ง) ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และงบปีที่สอง จะจัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(2) รอบบัญชีไม่เป็นไปตามปีปฏิทิน งบปีแรก จะจัดทำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 (วันก่อตั้ง) ไปสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2563 และงบปีที่ สอง จะจัดทำตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 อย่างนี้เป็นต้น
รอบระยะเวลาบัญชีจะน้อยกว่าหรือมากกว่า 12 เดือนได้หรือไม่
ในเมื่อ 1 ปี มีทั้งหมด 12 เดือน และเราบอกว่า รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบของการจัดทำบัญชีเพื่อนำข้อมูลเสียภาษีประจำปี ดังนั้น รอบระยะเวลาบัญชีจึงไม่สามารถเกินกว่า 12 เดือน ได้
อย่างไรก็ตาม เราอาจพบบางกรณีที่ นิติบุคคล ปิดงบการเงินเพื่อเสียภาษีโดยมีรอบระยะเวลาทางบัญชีน้อยกว่า 12เดือน เช่น
(1) กรณีนิติบุคคลส่งงบการเงินเป็นปีแรก และเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งระหว่างปี เช่น จัดตั้งนิติบุคคลวันที่ 1 มิถุนายน 25X1 ทำงบสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 25X1 เป็นต้น จึงเป็นนิติบุคคลที่มีการทำงบรอบระยะเวลาบัญชีในปีแรก แค่ 7 เดือน (คือมิถุนายน ถึง ธันวาคม) อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา นิติบุคคลนี้ จำเป็นต้องจัดทำงบให้ครบ 12 เดือน คือ เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 25X2 ถึง 31 ธันวาคม 25X2 เป็นต้น
(2) กรณีนิติบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาบัญชี (รายละเอียดเพิ่มเติมรอติดตามเรื่องเปลี่ยนรอบบัญชีทำอย่างไร)
(3) กรณีเลิกกิจการ ซึ่งมีผลทำให้ งบการเงินต้องสิ้นสุด ณ วันเลิกกิจการซึ่งอาจไม่ครบปี
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : ทำไมต้องปิดบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม
อ้างอิง : https://www.facebook.com/proaccountbySC/posts/2874713912570301/