คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
1. ทำไมต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
การที่มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะช่วยบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้ เช่น นาย ก. มีรายได้จากการเป็นลูกจ้างที่บริษัทแห่งหนึ่งทุก ๆ เดือนเงินได้รวมทั้งปีอาจจะเป็น 1 ล้านบาท พอสิ้นปีถ้าไม่โดนหัก ณ ที่จ่ายเลยจะต้องมาเสียภาษีครั้งสุดท้ายตอนสิ้นปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก็อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินผู้เสียภาษีลดลงไปได้ ในส่วนของรัฐ รัฐเก็บภาษีล่วงหน้า มีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอเพราะว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายผู้ที่หัก ณ ที่จ่ายจะต้องนำส่งทุก เดือน ดังนั้นรายได้ที่เข้าสู่คลังก็จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ เดือน หรืออีกนัยนึง มีการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพราะจะช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษีในภายหลังได้
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็คือ “เงิน” ที่ผู้จ่ายเงิน “หัก” ไว้ก่อนที่จะจ่ายให้กับผู้รับเงิน แล้วเอาเงินนั้นไปให้กับรัฐ นั่นทำให้ผู้รับเงินไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน แต่จะได้เงินบวกกระดาษแผ่นนึงที่เรียกว่า “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” ส่วนผู้จ่ายเงินยังต้องจ่ายเต็ม เพียงแต่จ่ายให้กับผู้รับเงินโดยตรงส่วนนึง แล้วให้สรรพากรอีกส่วนนึง
3. ใครมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และใครนำส่งสรรพากร
หลายคนอาจคิดว่าเฉพาะบริษัท หรือนิติบุคคลเท่านั้นที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่จริงๆแล้ว การหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับประเภทรายการที่จ่ายออกไป เช่น การจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ดังนั้นแม้ว่า จะเป็นบุคคลธรรมดา เช่น เปิดร้านแต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีพนักงาน จ้างคนมาเฝ้าร้าน ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายกรณีที่จ่ายค่าจ้างและนำส่งสรรพากรเนื่องจากเข้าเกณฑ์ที่ต้องหัก กล่าวคือ ผู้ที่จะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือผู้จ่ายเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการทั่วไป บริษัทห้างร้าน สมาคม จนถึงองค์กรของรัฐ ขึ้นอยู่กับจ่ายเป็นค่าอะไร และผู้ที่ถูกหักนั้น ต้องเสียภาษีหรือไม่
4. ใครที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
“ผู้ที่ต้องเสียภาษีทุกคนต้องถูกหัก” ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม อีกนัยนึงคือ ถ้าคุณไม่เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษี ก็ไม่จำเป็นต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายค่ะ ซึ่งคุณสามารถบอกคู่ค้า หรือผู้ที่จ่ายเงินไว้ก่อนว่าไม่จำเป็นต้องหัก ณ ที่จ่ายนะ หรือถ้าถูกหักไว้แล้ว สามารถขอคืนได้ เช่น ประกอบธุรกิจที่ได้ BOI หรือมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี พวกนี้ไม่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย
5. หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องหักเมื่อไร
เมื่อจ่ายเงินที่เกิน 1,000 บาทในคราวเดียว หรือหลายคราวรวมกันก็แล้วแต่ เช่น ถ้าแบ่งจ่ายบริการมูลค่า 1,200 บาท 2 ครั้ง ครั้งละ 600 บาท คุณต้องหักไว้ทั้ง 2 ครั้งด้วย แม้แต่ละครั้งจะไม่เกิน 1,000 บาท
ตัวอย่างรายการที่ต้องหัก และนำส่ง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- เงินเดือน ค่าจ้าง (เงินได้ประเภทที่ 1)
- จ้างทำงานให้ (เงินได้ประเภทที่ 2)
- ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)
- จ้างบริการวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
- จ้างทำของ/จ้างรับเหมา/บริการต่างๆ (เงินได้ประเภทที่ 7/8)
- ค่าโฆษณา (เงินได้ประเภทที่ 8)
- ค่าขนส่ง (เงินได้ประเภทที่ 8)
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
อ้างอิง : https://thaicpdathome.com/article/detail/91/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B8%93-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2