การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือภาษีที่คนทั่วไปจ่ายให้รัฐ เมื่อมีเงินได้ก็ต้องเสียภาษี แต่จะทำอย่างไรให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด หลักการง่าย ๆ คือ

  1. กระจายรายได้
  2. เพื่อลดหย่อน
  3. ระบุประเภทรายได้ให้เสียภาษีน้อยที่สุด
  4. จดทะเบียนสมรส

การกระจายรายได้

               เนื่องจากประเทศไทยใช้ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า PROGRESSIVE RATE ไม่ทราบว่าใครบัญญัติศัพท์ภาษาไทยคำนี้นะครับ คำว่าอัตราก้าวหน้าฟังดูแล้วรู้สึกดีเหมือนถ้าเสียภาษีแล้วจะก้าวหน้า แต่ผมว่าน่าจะเรียกอัตราขูดรีดมากกว่า หลักการของภาษีอัตราก้าวหน้าคือถ้ามีเงินได้น้อย เสียในอัตราที่ต่ำกว่า แต่ถ้าเงินได้สูงจะเสียในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ถ้าได้เงิน 500,000 บาท อาจเสียภาษีแค่ 50,000 บาท หรือ 10% แต่ถ้ารายได้ 2 ล้านบาท จะไม่เสียที่ 10% อาจเสียที่ 20% กลายเป็น 400,000 บาท จากตัวอย่างดังกล่าว ถ้ารับเงินสองล้าน แทนที่จะรับก้อนเดียวสองล้านอาจเปลี่ยนเป็นเงิน 4 ก้อน ก้อนละ 500,000 ก็จะจ่ายภาษีเท่ากับ 50,000 X 4 = 200,000 บาท ไม่ต้องจ่าย 400,000 บาทเหมือนกับก้อนใหญ่ก้อนเดียว

วิธีการกระจายเงินได้ทำได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่

  1. การหาคนมาช่วยรับเงิน ตัวอย่างเช่น ทำงาน 4 คนค่าจ้าง 2 ล้านบาท แทนที่จะรับคนเดียว 2 ล้าน อาจจะเจรจากับผู้จ้างว่าให้จ่าย 4 คนคนละ 500,000 แบบนี้ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง
  2. การกระจายงวดการรับเงิน เช่น เงิน 2 ล้าน แทนที่จะรับครั้งเดียว อาจเปลี่ยนเป็นรับเงิน 2 ครั้ง เช่น ถ้ารับเงินช่วงเดือน ธ.ค. อาจขอให้จ่าย 1 ล้านบาทในเดือน ธ.ค. และอีก 1 ล้านไปจ่ายในเดือน ม.ค. แบบนี้ก็จะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง ในอดีตคนที่รับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนจะมีเทคนิคในการกระจายรายได้คือการจดคณะบุคคล แต่ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ทำการจำกัดการจดคณะบุคคลทำให้ไม่สามารถที่จะใช้ได้อย่างง่าย ๆ จึงจำเป็นต้องศึกษาเทคนิคอื่น ๆ ในการวางแผนภาษีต่อไป

เพิ่มค่าลดหย่อน

               ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายมากมายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และที่มักจะพูดถึงกันมากคือประกันชีวิตและกองทุน ซึ่งเป็นการลดหย่อนเต็ม ๆ นอกจากนั้นก็มีเรื่องของดอกเบี้ยผ่อนบ้าน เลี้ยงดูบุพการี เงินบริจาค ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้สามารถหาศึกษาได้ทั่ว ๆ ไป นอกจากค่าลดหย่อนทั่ว ๆ ไปแล้ว หากรายได้ของคุณเป็นงานพวกรับเหมา คุณสามารถหารายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มค่าลดหย่อนได้ด้วย เช่น หากรับเหมาก่อสร้าง ค่าแรงคนงานสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ แต่ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าคนงานคนนี้ ได้มารับเงินจากเราไปจำนวนเงินเท่าไหร่

ระบุประเภทรายได้ให้เสียภาษีน้อยที่สุด

หากถามว่าอาชีพไหนเสียภาษีสูงที่สุดก็ต้องตอบว่ามนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพที่เสียภาษีสูงที่สุด ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คุณมีรายได้ จำไว้ว่าต้องไม่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง รายได้คนเรามีหลายประเภท เช่น

  • เงินเดือน ค่าจ้าง
  • ดอกเบี้ย เงินปันผล
  • วิชาชีพอิสระ
  • รับเหมา
  • ขนส่ง
  • เกษตรกร

               จริง ๆ มีมากกว่านี้ ซึ่งเราควรได้ศึกษาประเภทรายได้ต่าง ๆ ว่ามีวิธีการเสียภาษีอย่างไร และพยายามปรับเงื่อนไขรายได้ของเราให้เข้าสู่รายได้ประเภทนั้น ๆ โดยดูว่ารายได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ยิ่งรายได้นั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูง ก็จะทำให้เงินได้สุทธิลดลงก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง ตัวอย่างเช่น หากเราขายข้าวเปลือกหรือข้าวสาร สมมติขายได้ 1 ล้านบาท ถ้าเป็นอาชีพขายสินค้าที่มิได้ผลิตเอง คุณจะมีเงินได้สุทธิ 200,000 บาท แต่หากคุณบอกว่าคุณเป็นเกษตรกร คุณจะมีเงินได้สุทธิ 150,000 บาท จะเสียภาษีน้อยลง ถ้ามีคนจ้างคุณขับรถส่งของ สมมติถ้ามีเงินได้ 500,000 บาท ถ้าเป็นค่าจ้างมีเงินได้ 410,000 บาท แต่ถ้าเป็นรับจ้างขนส่งเงินได้สุทธิจะเหลือแค่ 100,000 บาท ถ้าคุณรับจ้างพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สมมติถ้ารายได้ 1.5 ล้านบาท ถ้าเป็นค่าจ้างจะมีเงินได้สุทธิ 1.4 ล้าน บาท เสียภาษีประมาณสองแสนห้า แต่หากเป็นงานรับเหมาจะมีเงินได้สุทธิแค่ 450,000 เสียภาษีแค่สามหมื่นบาท จากตัวอย่างก่อนจะมีรายได้หากเราได้ลองศึกษาเรื่องภาษีและพยายามที่จะดันเงื่อนไขการรับเงินเข้าสู่รายได้ให้ถูกประเภทแล้ว คุณจะเสียภาษีน้อยลงมาก เรื่องเงื่อนไขการรับเงินนี้มักจะเป็นปัญหากับสรรพากรมาก เพราะการระบุประเภทรายได้นั้นไม่มีกฎระเบียบเงื่อนไขที่แน่นอน เรื่องนี้คงต้องอาศัยความสามารถในการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ดีในการระบุประเภทรายได้ให้ระวังอีกเรื่องหนึ่งคืออาชีพบางประเภทหากรายได้เกิน 1.8 ล้านต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ด้วย ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นจุดอ่อนให้สรรพากรรีดภาษีจากเราได้อีก ดังนั้นการรับรายได้ถ้าคอยระวังอย่าให้เกิน 1.8 ล้านจะดีที่สุด

จดทะเบียนสมรส

ในอดีตการจดทะเบียนสมรสจะทำให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะจะบังคับให้รายได้บางส่วนต้องยื่นรวมเป็นรายได้สามี แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสิ่งนี้ผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้กรมสรรพากรต้องเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ ปัจจุบันกลายเป็นว่าการจดทะเบียนสมรสจะทำให้เสียภาษีน้อยลง เช่น

  • รายได้บางส่วนของสามี สามารถโอนมาเป็นรายได้ของภรรยาได้
  • ถ้าสามีมีรายได้ฝ่ายเดียว รายได้บางส่วนสามารถหารสองคำนวณภาษีได้

            ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสแล้วจะทำให้เสียภาษีน้อยลงนั้นมีผลประโยชน์อีกมากมาย สามารถศึกษาได้ทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อจำกัดคือสำหรับคนทำงานกินเงินเดือน ประเด็นนี้ไม่ค่อยช่วยอะไรมากนัก

 

ที่มา : www.slawconsult.com

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart