อัปเดตภาษีเงินได้ต่างประเทศล่าสุด ก่อนวางแผนนำเงินกลับประเทศไทย
อัปเดตภาษีเงินได้ต่างประเทศล่าสุด ก่อนวางแผนนำเงินกลับประเทศไทย
จากที่มีการอัปเดตกฏหมายภาษีเงินได้ต่างประเทศใหม่ล่าสุด อาจได้สร้างความตื่นตัวในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ก่อนอื่นผมต้องขอท้าวความให้ผู้อ่านทุกท่านทราบถึงหลักเกณฑ์ของปัจจุบันก่อน เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ครับ ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาภายใต้ประมวลรัษฎากรแบ่งได้ 2 หลักการ ได้แก่
1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) – สำหรับหลักการนี้ประเทศไทยจะจัดเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดจากหน้าที่การงาน กิจการที่ทำในประเทศไทย กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) – หลักการนี้ประเทศไทยจะเก็บภาษีจากเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย คืออยู่ในประเทศไทย 180 วันหรือมากกว่านั้น (นับตามปีภาษี มกราคม – ธันวาคม) และ มีเงินได้จากต่างประเทศ โดยผู้มีเงินได้นั้นนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกับที่เกิดเงินได้ ดังนั้นหลักปฏิบัติที่ผ่านมาผู้มีเงินได้จากต่างประเทศที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาข้ามปีที่มีรายได้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย (“หลักเกณฑ์เดิม”)
ในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 161/2566 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 และ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 162/2566 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 (“หลักเกณฑ์ใหม่”) เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานในการให้คำแนะนำแก่ผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีเงินได้จากต่างประเทศตามหลัก Resident Rule โดยหลักปฏิบัตินี้จะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้จากต่างประเทศที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
หลักเกณฑ์ใหม่และหลักเกณฑ์เดิมยังคงใช้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และ มีเงินได้จากต่างประเทศในปีนั้น เช่น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น ส่วนในเรื่องของความแตกต่างก็จะเป็นเรื่องของภาษีสำหรับการนำเงินได้เข้ามาในประเทศ ดังนี้
Ø หลักเกณฑ์เดิม จากที่เราเคยยึดถือกันว่ามีรายได้ปีใดหากเอาเข้ามาข้ามปีที่ก่อให้เกิดเงินได้ก็ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะยังคงใช้สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
Ø หลักเกณฑ์ใหม่ หากมีเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปและได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใดก็จะต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทยในปีนั้น เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่ได้ออกกฎเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมนอกจากหลักเกณฑ์ใหม่ ดังนั้นการเสียภาษีจะยังคงต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า (5% – 35%)
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้ก็จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศที่อาจจะยังคุ้นชินกับหลักเกณฑ์เดิม ในกรณีนี้หากท่านมีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศอันดับแรกที่ท่านต้องพิจารณาก็คือ ท่านเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีที่เกิดเงินได้นั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าหากท่านอยู่ไม่ถึง 180 วันในปีนั้น ทั้งหลักเกณฑ์เก่าและหลักเกณฑ์ใหม่นี้ก็จะไม่ได้นำมาใช้กับท่าน เพราะเหตุที่ท่านไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจึงไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยจากเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศนี้ หากท่านเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีเงินได้จากต่างประเทศที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 ท่านก็อาจจะพิจารณานำเงินได้ดังกล่าวกลับประเทศในปี 2567 หรือหลังจากนี้เพื่อที่จะยังสามารถใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์เดิมได้ แต่สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปท่านจะต้องยึดถือตามหลักเกณฑ์ใหม่ตามตารางที่ได้สรุปในภาพด้านล่างนี้
ในเรื่องของหลักเกณฑ์ใหม่ ทางกรมสรรพากรก็จะออกคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้แก่นักลงทุนในเร็วๆ นี้ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องติดตามกันว่ากรมสรรพากรจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ อย่างไร สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการเสียภาษีสำหรับหลักเกณฑ์ใหม่จะยังคงเป็นตามอัตราก้าวหน้าหรือไม่ หรือจะกำหนดให้เสียภาษีในอัตราคงที่สำหรับเงินได้บางประเภท เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย
สำหรับนักลงทุนไทยที่มีความสนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ นอกเหนือจากแนะนำให้ท่านรอดูแนวทางของกรมสรรพากร ท่านก็อาจจะพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะถือว่าเป็นการลงทุนในประเทศไทย โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ก็มีกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ในต่างประเทศให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนอยู่มากมาย ข้อดีของการลงทุนในกองทุนไทยก็คือผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากได้กำไรจากการลงทุนในกองทุนรวม และส่วนเงินได้จากเงินปันผลจะมีการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 10 ซึ่งเป็นอัตราคงที่ หากท่านมีความสนใจในเรื่องของกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ท่านสามารถติดต่อที่ปรึกษาการลงทุนของท่านเพื่อสอบถามข้อมูลการลงทุนดังกล่าวได้
Cr. https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/grow-your-wealth/taxes-from-foreign-income.html